Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 ธันวาคม 2560

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ฟิลิปปินส์: ตลาดดาวรุ่งอาเซียนที่ไทยไม่ควรมองข้าม (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2887)

คะแนนเฉลี่ย

แม้ว่า การส่งออกไปยังตลาดอาเซียน-5 (มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน) ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 59.3 ของการส่งออกไปอาเซียนทั้งหมด 9 ประเทศ จะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.8 ต่อปี แต่กระนั้น การส่งออกของไทยไปยังอาเซียน-5 เน้นการส่งสินค้าขั้นกลางเพื่อป้อนภาคการผลิตเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งโครงสร้างการส่งออกดังกล่าวจะมีความยั่งยืนจากสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่าสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความผันผวนทางด้านราคาซึ่งเป็นสินค้าหลักในการส่งออกของไทยไปยัง CLMV ทั้งนี้ ท่ามกลางแนวโน้มการส่งออกของไทยไปยังอาเซียน-5 ที่ขยายตัวลดลง ทว่า การส่งออกไปยังฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นตลาดส่งออกรั้งอันดับ 4 ในอาเซียน-5 กลับเติบโตสวนทางกับประเทศอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา (2551-2559) ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.7 ต่อปี นอกจากนี้ ในปี 2559 ยังขยายตัวอย่างโดดเด่นกว่าร้อยละ 6.8 เหนือตลาดอื่นๆ ในอาเซียนทั้งหมด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกของไทยไปยังฟิลิปปินส์ในปี 2560 น่าจะเติบโตที่ร้อยละ 8.9 หรือมีมูลค่า 6,966 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังคงเติบโตต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.0 หรือมีมูลค่า 7,384 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2561 โดยเป็นการขยายตัวสูงเป็นลำดับที่สองในการส่งออกของไทยไปยังอาเซียนทั้งหมด รองจากเวียดนามที่คาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 10.5 ในปีเดียวกันตามลำดับ
โครงสร้างการนำเข้าสินค้าของฟิลิปปินส์เน้นหนักไปที่สินค้าวัตถุดิบขั้นกลางและสินค้าทุนเพื่อผลิตสินค้าบริโภคภายในประเทศและส่งออก สอดคล้องกันกับโครงสร้างการส่งออกของไทยไปยังฟิลิปปินส์ กล่าวคือ ไทยมีสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งอยู่ในกลุ่มยานพาหนะ (รถยนต์และส่วนประกอบ) ซึ่งฟิลิปปินส์มีทิศทางนำเข้าที่สูงเฉลี่ยร้อยละ 6.4 ในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา (2556-2559) ตามความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ไทยยังเน้นส่งออก สินค้าวัตถุดิบขั้นกลาง ซึ่งเป็นสินค้าในกลุ่มที่ฟิลิปปินส์มีการนำเข้าในสัดส่วนมากที่สุด นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภคของฟิลิปปินส์ใน 4 ปีที่ผ่านมา ขยายตัวเฉลี่ยสูงเป็นอันดับหนึ่งที่ร้อยละ 9.6 ต่อปี จากความต้องการอุปโภคภายในประเทศที่เติบโต ซึ่งไทยเองก็ได้มีการส่งออกสินค้าบริโภคอุปโภคในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปไปยังฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่อง
สำหรับในระยะข้างหน้าการส่งออกของไทยไปยังฟิลิปปินส์จะมีแนวโน้มที่ขยายตัวดีขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนหลักที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1) บทบาทการเป็นห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคของฟิลิปปินส์โดยไทยมีโอกาสจากการส่งออกผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลางที่สอดคล้องกับภาคการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นปลายของฟิลิปปินส์ในอนาคต และ 2) ตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพของฟิลิปปินส์ ที่มีแนวโน้มขยายตัวเป็นอย่างมาก ตามจำนวนประชากรที่มีรายได้ปานกลางที่เพิ่มขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ