การประชุมประจำปีของสภาประชาชนแห่งชาติจีน (National People’s Congress) ที่เริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ (5 มี.ค. 2561) เป็นที่จับตาเป็นพิเศษ โดยนอกเหนือจากการผลักดันวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกข้อจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีที่ปัจจุบันกำหนดให้ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัยแล้ว การประชุมประจำปีของสภาประชาชนฯ ในครั้งนี้ ยังถือเป็นครั้งแรกในสมัยที่สองของการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งมีอำนาจที่รวมศูนย์มากขึ้น
ทั้งนี้ ในวันแรกของการประชุมประจำปีสภาประชาชนฯ ได้มีการเปิดเผยเบื้องต้นถึงเป้าหมายการขยายทางเศรษฐกิจของจีนประจำปี 2561 ที่ร้อยละ 6.5 ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทยว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2561 น่าจะกลับคืนเข้าสู่กรอบแนวโน้มชะลอตัวและคงเติบโตได้ราวร้อยละ 6.6 (ช่วงประมาณการร้อยละ 6.4 ถึงร้อยละ 6.7) หลักๆ จากการส่งออก (ในรูปของสกุลดอลลาร์สหรัฐ) ที่คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญที่ร้อยละ 5.0 เทียบกับร้อยละ 7.9 ในปี 2560
ด้วยเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอลง ประกอบกับแนวโน้มการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในปี 2561 นี้ ทางการจีนน่าจะยังคงให้น้ำหนักความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก และหากเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตได้ตามเป้าหมาย ทางการจีนคงเดินหน้าผลักดันการปฏิรูปเชิงโครงสร้างให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและการจัดการด้านอุปทานส่วนเกิน นอกเหนือไปจากความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐในการควบคุมการขยายตัวของสินเชื่อ เพื่อจำกัดความเสี่ยงอันเกิดจากหนี้ภาคธุรกิจและหนี้ครัวเรือนไม่ให้ลุกลามจนส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการเงินภายในประเทศ
ทั้งนี้ จำเป็นต้องติดตามพัฒนาการของระบอบการค้าโลกที่เริ่มทวีน้ำหนักความเสี่ยงมากขึ้น หลังจากที่สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการ Safeguard ซึ่งส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าโลกให้ตึงเครียดมากขึ้น อันจะกลายเป็นความเสี่ยงหลักต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในระยะปานกลาง โดยท่าทีเชิงนโยบายของทางการจีนที่มีต่อประเด็นดังกล่าวคงชัดเจนขึ้นหลังเสร็จสิ้นการประชุมประจำปีสภาประชาชนฯ ในครั้งนี้ และคาดว่าคงออกมาในลักษณะประนีประนอมและนำไปสู่การหารืออย่างสร้างสรรค์ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะทำให้ปัญหาลุกลามและบานปลาย
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น