Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 มีนาคม 2561

เศรษฐกิจต่างประเทศ

สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม จุดประเด็นมาตรการกีดกันการค้าโลกเข้มข้น (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2903)

คะแนนเฉลี่ย
​​​มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยังคงประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะ ทวีความตึงเครียดต่อการค้าโลกมากขึ้นตลอดปี 2561 โดยมาตรการล่าสุดนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากคู่ค้าทุกประเทศ (Safeguard) ที่ร้อยละ 25 และร้อยละ 10 ตามลำดับ แม้จะยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเส้นทางการทำการค้ากับสหรัฐฯ จะไม่ราบรื่นอีกต่อไป

ผลกระทบทางตรงต่อไทยจากการเก็บภาษีของสหรัฐฯ น่าจะจำกัดอยู่ในกลุ่มวัสดุก่อสร้างและผลิตภัณฑ์เหล็กแปรรูปขั้นต้น เช่น ท่อเหล็ก แผ่นเหล็ก ลวดเหล็กแรงดึงสูง แผ่นอะลูมิเนียม ส่วนผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ใช้เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคไม่น่าอยู่ในขอบข่ายของ Safeguard อาทิ โต๊ะเหล็ก และเครื่องใช้ในครัวเรือนที่เป็นเหล็ก เป็นต้น ผลทางอ้อมจากการกีดกันการนำเข้าของสหรัฐฯ จะทำให้สินค้ากลุ่มเหล็กและอะลูมิเนียมล้นตลาด ส่งผลสืบเนื่องมายังราคาสินค้าในกลุ่มนี้ปรับตัวลดลง โดยส่งผลต่อธุรกิจไทย 2 ด้าน คือ ไทยได้อานิสงส์จากนำเข้าวัตถุดิบในราคาต่ำลงสำหรับการผลิตสินค้าขั้นปลายน้ำ โดยธุรกิจที่ได้ประโยชน์ ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การก่อสร้าง อากาศยาน รวมทั้งการผลิตอาหารกระป๋องที่ใช้อะลูมิเนียมในการผลิต แต่สินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมขั้นกลางน้ำที่มีราคาต่ำลงก็อาจกลายมาเป็นคู่แข่งกับสินค้าไทยที่ส่งออกไปในตลาดโลกได้เช่นกัน ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจถูกสินค้าจากแคนาดา เกาหลีใต้ และจีนเข้ามาชิงพื้นที่ตลาดของไทยที่ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะข้างหน้ามีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อาจใช้มาตรการ Safeguard กับสินค้ากุ้งแช่แข็ง เนื้อปลาแช่แข็ง ซึ่งถ้าหากเกิดขึ้นจริงคงมีธุรกิจไทยที่เกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบไม่น้อย ดังนั้น ธุรกิจไทยที่มีสหรัฐฯ เป็นตลาดเป้าหมายควรมีแผนกระจายความเสี่ยงโดยแสวงหาตลาดใหม่อย่างจริงจัง เพราะมาตรการที่สหรัฐฯ นำมาใช้ในขณะนี้นับว่าเป็นการกีดกันทางการค้าอย่างครอบคลุมรอบด้าน เป็นการยากที่จะพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพียงตลาดเดียว

จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่เข้าสู่ปี 2561 สหรัฐฯ เดินหน้ากดดันการค้ากับต่างประเทศเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมาตรการในครั้งนี้เสมือนเป็นการเปิดฉากสงครามกีดกันทางการค้ากับนานาประเทศ ที่ตอกย้ำว่าหนทางข้างหน้าของเส้นทางการค้าโลกยังคงมุ่งปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งข้อพิพาททางการค้าที่มีแนวโน้มขยายขอบเขตไปครอบคลุมหลายเศรษฐกิจหลักในโลกและหลายหมวดสินค้า จะทำให้ในที่สุดแล้วโครงสร้างการผลิต การค้า และราคาสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในตลาดโลกได้รับผลกระทบและมีความซับซ้อนมากขึ้น อันจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและการค้าของสินค้าไทยอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ขึ้นอยู่กับว่าสถานะของไทยว่าเป็นผู้ขายหรือผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวในเวทีโลก​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ