Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 มกราคม 2561

เศรษฐกิจไทย

หนี้ครัวเรือนไทยในปี 2561 อาจชะลอลงต่อเนื่องมาที่ 77-78% ต่อจีดีพี (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2896)

คะแนนเฉลี่ย

​สถานการณ์หนี้ครัวเรือนล่าสุดของไทยในไตรมาส 3/2560 ชะลอลง มาอยู่ที่ 78.3% ต่อจีดีพี จากระดับ 78.4% ต่อจีดีพี ในไตรมาส 2/2560 โดยอาจกล่าวได้ว่า การลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนดังกล่าว ยังคงเป็นผลมาจากการที่ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน เพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าการเติบโตของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Nominal GDP) อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ลดต่ำลงดังกล่าว จะสะท้อนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในภาพรวมที่กำลังทยอยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่คงต้องยอมรับว่า ครัวเรือนในหลายๆ กลุ่ม ยังคงมี “ ภาระหนี้” และยังมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ทั้งนี้ ทิศทางบางส่วนสะท้อนผ่านผลสำรวจในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงปลายปี 2560 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ประมาณ 78% ของผู้ที่ตอบแบบสอบถาม เป็นบุคคลที่มีภาระหนี้ “อย่างน้อย” 1 ประเภท และสัดส่วนประมาณ 35.6% ของประชาชนในกลุ่มที่มีภาระหนี้ ระบุว่า มีภาระการผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ แม้ผลสำรวจจะจัดเก็บจากประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น่าจะมีประเด็นการว่างงานและผลกระทบจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรค่อนข้างน้อย แต่ก็มีข้อสังเกตที่สามารถสะท้อนภาพได้ในหลายมิติ อาทิ คนที่อยู่ในกลุ่มที่มีสัดส่วน DSR สูงกว่า 40% นั้น ส่วนใหญ่จะมีภาระหนี้ที่เกิดจากสินเชื่อมากกว่า 2 ผลิตภัณฑ์ (ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยจำนวนผลิตภัณฑ์สินเชื่อของกลุ่มที่มี DSR ต่ำกว่า 40% ซึ่งอยู่ที่ 1.66) โดยมักจะเป็นหนี้บัตรเครดิต บวกกับสินเชื่อก้อนใหญ่ เช่น สินเชื่อบ้าน และรถยนต์ นอกจากนี้ แม้สัดส่วน DSR ของ Gen-Y ที่มีหนี้ จะสูงกว่าค่าเฉลี่ย DSR โดยรวมของคนที่มีภาระหนี้ในผลสำรวจ แต่ก็เริ่มปรากฏภาพของพฤติกรรมในเชิงบวก ที่แสดงความระมัดระวังในการก่อหนี้ก้อนใหม่ ซึ่งเป็นทิศทางที่ทางการไทยคาดหวัง เพื่อจำกัดขนาดของปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในระยะยาว

สำหรับปี 2561 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี มีโอกาสขยับลงมาอยู่ที่กรอบประมาณ 77-78% เนื่องจากอัตราการขยายตัวของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจประจำปี (Nominal GDP) น่าจะยังคงสูงกว่าการขยายตัวของหนี้ครัวเรือน อย่างไรก็ดี ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่ยังขยับขึ้นต่อเนื่อง ยังคงเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า ภาระหนี้สินยังเป็นประเด็นที่เปราะบางของครัวเรือนบางกลุ่ม โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีภาระผูกพันกับหนี้หลายก้อน รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่มีการก่อหนี้เร็วขึ้น ซึ่งทำให้การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ ต้องพึ่งพาความร่วมมือจากหลายฝ่ายเข้าด้วยกัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม