Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 มกราคม 2548

เศรษฐกิจไทย

ศึกเลือกตั้งปี'48 : เม็ดเงินสะพัด 1.5 หมื่นล้าน

คะแนนเฉลี่ย

วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ทั่วประเทศอีกครั้ง หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรได้ทำหน้าที่มาจนครบวาระ 4 ปีเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2548 โดยไม่ได้มีการประกาศยุบสภาก่อนกำหนด อันมีผลทำให้รัฐบาลต้องออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนด

เมื่อทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดรับสมัครให้พรรคการเมืองและผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ปรากฏว่าพรรคการเมืองต่างๆก็ให้ความสนใจที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งกันพอสมควร ในการจับฉลากเพื่อเลือกหมายเลขประจำพรรคและผู้สมัคร ส.ส.นั้น พบว่ามีบางพรรคคาดหวังที่จะได้หมายเลขตามที่ต้องการไว้ เพื่อให้สอดคล้องกับแคมเปญที่เตรียมไว้ก่อนหน้า บางพรรคก็ต้องการหมายเลขที่เป็นมงคล บางพรรคก็ต้องการหมายเลขที่ประชาชนจดจำได้ง่าย เพื่อสะดวกต่อการลงคะแนนเสียง แต่ทุกพรรคก็ได้หมายเลขตามที่หัวหน้าพรรคเป็นผู้เสี่ยงโชคจับฉลากขึ้นมา

ในด้านการแข่งขันของพรรคการเมืองต่างๆที่ลงชิงชัยในศึกเลือกตั้งครั้งนี้พบได้ว่า การแข่งขันมีความเข้มข้นไม่แพ้การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆมา โดยพรรคการเมืองต่างก็งัดกลยุทธ์ทางการเมืองมาใช้กันทุกรูปแบบ มีทั้งการปราศรัยหาเสียงตามชุมชน การเดินเจาะฐานคะแนนเสียงแบบเคาะประตูบ้าน การใช้รถติดเครื่องขยายเสียงประชาสัมพันธ์ตามหมู่บ้าน เหมาขบวนรถไฟไปปราศรัยหาเสียงในต่างจังหวัด การออกปรากฏตัวในงานสังคมเพื่อเรียกคะแนนนิยมจากประชาชน รวมไปถึงการใช้สื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุอย่างเป็นระบบ

การเปลี่ยนแปลงในศึกเลือกตั้งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การใช้กลยุทธ์ทางการตลาดและการประชาสัมพันธ์เชิงนโยบายมาใช้หาเสียงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชาสัมพันธ์แบบเน้นภาพลักษณ์ของผู้นำหรือผู้บริหารพรรคการเมือง ซึ่งเปรียบเสมือนกับสินค้าที่จะขายออกสู่ตลาดมีภาพให้เห็นบนแผ่นป้ายโฆษณาหาเสียงในพื้นที่ต่างๆเกือบทั่วประเทศ

สำหรับเงินค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส.นั้น ทาง กกต.ได้กำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส.แต่ละคนสามารถที่จะใช้เงินได้ไม่เกินคนละ 1.5 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากข้อกำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้สมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งก่อน 5 แสนบาท

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงเม็ดเงินที่ใช้ในศึกเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะมีเงินสะพัดประมาณ 15,000 ล้านบาท (รวมงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งของ กกต. จำนวน 2,380 ล้านบาทด้วย) เปรียบเทียบกับเม็ดเงินที่ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 ที่คาดว่ามีเงินสะพัดถึง 25,000 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากจำนวนของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ลดลงถึง 1,433 คน ขณะที่พรรคการเมืองที่ลงแข่งขันลดลงจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว 13 พรรค ประกอบกับระยะเวลาในการหาเสียงสั้นลง 15 วัน

สำหรับกระแสเงินที่สะพัดในสนามเลือกตั้งภาคต่างๆ ดังนี้

1. พื้นที่ภาคอีสาน คาดว่าจะมีเงินสะพัดประมาณ 5,900 ล้านบาท

2. พื้นที่กรุงเทพมหานคร คาดว่าจะมีเงินสะพัด ประมาณ 1,800 ล้านบาท

3. พื้นที่ภาคใต้ คาดว่าจะมีเงินสะพัดประมาณ 1,700 ล้านบาท

4. พื้นที่ภาคกลาง คาดว่าจะมีเงินสะพัดประมาณ 2,000 ล้านบาท

5. พื้นที่ภาคเหนือ คาดว่าจะมีเงินสะพัดประมาณ 2,800 ล้านบาท

6. พื้นที่ภาคตะวันออก คาดว่าจะมีเงินสะพัดประมาณ 800 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามเม็ดเงินที่ใช้ในการเลือกตั้งส่วนใหญ่คาดว่าจะกระจายไปในธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นส่วนใหญ่ เช่น ธุรกิจการพิมพ์ กระดาษ แผ่นพลาสติก ธุรกิจวางแผนสื่อโฆษณา เสื้อแจ็คเก็ต หมวก เครื่องดื่ม การถ่ายรูป บิลบอร์ด ไม้อัด สินค้าอุปโภคบริโภค รถยนต์ และน้ำมัน เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย