Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 กุมภาพันธ์ 2548

เศรษฐกิจไทย

วาเลนไทน์ปี'48 : เงินสะพัดทั่วไทย 2,200 ล้านบาท

คะแนนเฉลี่ย

หลังจากเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ซึ่งเป็นเทศกาลซื้อของขวัญและเทศกาลจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเป็นประจำทุกปีได้สิ้นสุดลงแล้ว โอกาสของการซื้อของขวัญที่สำคัญอีกช่วงหนึ่งในระยะต้นปีคือ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันแห่งความรัก คาดการณ์ว่าวันวาเลนไทน์ปีนี้จะคึกคัก เนื่องจากตรงกับวันจันทน์ ดังนั้นบรรยากาศการจับจ่ายซื้อของขวัญเพื่อมอบให้กับคนรักจะคึกคักตั้งแต่คืนวันที่ 11 กุมภาพันธ์ไปจนถึงในช่วงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2548 หรือตั้งแต่วันศุกร์ไปจนถึงวันอาทิตย์ ทำให้มีเวลาจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าได้มากกว่าวันทำงาน/เรียนหนังสือ นอกจากนี้ในปีนี้ยังมีปัจจัยหนุนให้เม็ดเงินในช่วงวันวาเลนไทน์มีเงินสะพัดมากขึ้น เนื่องจากเงินโบนัสและเงินแต๋ะเอียในช่วงตรุษจีนที่บรรดาบริษัทห้างร้านต่างๆจ่ายให้กับลูกค้านับว่าอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มกำลังซื้อสำหรับวันวาเลนไทน์ในปีนี้ด้วย

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ “วันวาเลนไทน์ปี 2005 ในสายตาคนไทย” จากกลุ่มตัวอย่าง 1,820 คน ซึ่งการสำรวจในครั้งนี้เป็นการสำรวจทั่วประเทศ ในระหว่างวันที่ 21 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2548 คาดว่าในปี 2548 นี้จะมีเม็ดเงินสะพัดทั่วประเทศในช่วงวันวาเลนไทน์ประมาณ 2,200 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาแล้วเม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10.0 โดยคาดว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในช่วงวันวาเลนไทน์ประมาณ 780 บาทต่อคน อย่างไรก็ตามเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามินั้นมีผลต่อพฤติกรรมของคนไทยในช่วงวันวาเลนไทน์ ซึ่งมีผลทำให้เม็ดเงินสะพัดในช่วงวันวาเลนไทน์นี้เพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากมีกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 60.4 ที่ตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในช่วงวันวาเลนไทน์ปีนี้ กล่าวคือ ในกลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในช่วงวันวาเลนไทน์นั้น ร้อยละ 52.3 หันไปทำกิจกรรม/บริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิแทน ร้อยละ 19.5 ลดกิจกรรมต่างๆในช่วงวันวาเลนไทน์ลง ร้อยละ 19.3 ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อสิ่งของต่างๆในช่วงวันวาเลนไทน์ลง และอีกร้อยละ 9.1 หันมาให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์มากขึ้น

ค่าใช้จ่ายในช่วงวันวาเลนไทน์แยกรายภาค
ภาค
ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน

(บาท)
ค่าใช้จ่ายรวม

(ล้านบาท)
กรุงเทพฯและปริมณฑล
1,166.28
800
กลาง
542.14
400
เหนือ
302.89
300
ตะวันออกเฉียงเหนือ
922.49
500
ใต้
150.89
200
เฉลี่ยโดยรวม
783.1
2,200

ที่มา : โพลล์บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

สินค้ายอดฮิตที่จะมีการมอบให้กันในวันวาเลนไทน์นั้นยังคงเป็นดอกกุหลาบ โดยเฉพาะดอกกุหลาบสีแดง แม้ว่าจะมีการคาดหมายกันว่าราคาดอกกุหลาบในปีนี้จะแพงกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะอากาศที่แปรปรวนและเกษตรกรเลิกปลูกกุหลาบหันไปปลูกไม้อื่นๆแทน ทำให้ปริมาณการผลิตกุหลาบลดลง ส่วนดอกกุหลาบที่นำเข้าก็มีราคาสูงขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนเช่นกัน อย่างไรก็ตามจากการสำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 41.0 ยังยืนยันที่จะให้ดอกกุหลาบ เนื่องจากเห็นว่าดอกกุหลาบสีแดงนั้นเป็นสัญญลักษณ์ของวันวาเลนไทน์ และการจัดช่อดอกไม้ในวันวาเลนไทน์ในปีนี้ยังมีการเพิ่มงบประมาณเป็น 1,000-2,000 บาท จากที่ในปีที่แล้วกำหนดงบประมาณไว้เพียง 500-1,000 บาทเท่านั้น ดังนั้นในช่วงวันวาเลนไทน์กิจการร้านจัดดอกไม้ เกษตรกรและผู้ค้าดอกไม้ต่างได้รับประโยชน์จากเงินสะพัดกันถ้วนหน้า

กิจกรรมยอดฮิตในช่วงวันวาเลนไทน์คือ การบอกรักผ่านกามเทพไฮเทคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ตโดยการฝากข้อความ การส่งการ์ดออนไลน์ และการสั่งดอกไม้ออนไลน์ ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ คาดว่าในช่วงวันวาเลนไทน์มีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจเหล่านี้ไม่น้อยทีเดียว นอกจากนี้กิจกรรม 5 อันดับแรกที่นิยมทำในวันวาเลนไทน์คือ รับประทานอาหารนอกบ้าน ส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือ ดูภาพยนตร์ โทรศัพท์คุยกันเป็นกรณีพิเศษ และฟังเพลง ซึ่งหลากหลายกิจกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในหลากหลายธุรกิจเช่นกัน

ในวันวาเลนไทน์เป็นช่วงที่บรรดาธุรกิจต่างรอคอยด้วยความคาดหวังว่าเทศกาลจะกระตุ้นให้ยอดจำหน่ายสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นมากกว่าในภาวะปกติ แม้ว่าเทศกาลวันแห่งความรักเป็นวัฒนธรรมของตะวันตกที่เข้ามาแทรกซึมความคิดของคนรุ่นใหม่ได้อย่างกลมกลืน แต่ก็มีผลให้แนวความคิดในการแสดงถึงความรักของคนไทยเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากที่เคยเป็นเรื่องที่ถือว่าควรปกปิดมาเป็นการเปิดเผยมากขึ้น อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มวัยรุ่นนั้นเป็นกลุ่มเป้าหมายของเทศกาลนี้ โดยเริ่มจับกลุ่มตลาดตั้งแต่เด็กเล็ก วัยรุ่น-วัยเรียน ไปจนถึงคนที่ทำงานแล้ว โดยการมอบของขวัญให้แก่กันเพื่อเป็นการแสดงถึงความรักหรือมิตรภาพใสๆระหว่างเพื่อน ไปจนถึงความรักของหนุ่มสาวหรือคู่รัก ซึ่งพฤติกรรมที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละกลุ่มเป้าหมายจุดประกายการเจาะตลาดให้บรรดานักธุรกิจทั้งหลายผลิตสินค้าในวันแห่งความรักนี้เพื่อสนองความต้องการที่หลากหลายในช่วงเทศกาลดังกล่าว

เศรษฐกิจไทย