Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 มีนาคม 2548

เศรษฐกิจไทย

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2548 และผลต่อภาคการเงิน

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการขยายตัวของ GDP ของไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2547 อาจจะเท่ากับร้อยละ 5.9 โดยลดลงเล็กน้อยจากการขยายตัวในไตรมาสที่ 3/2547 ที่อยู่ที่ร้อยละ 6.0 ในขณะที่อัตราการขยายตัวของทั้งปี 2547 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.2 ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 ในปี 2546 สำหรับในปี 2548 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า GDP ของไทย อาจจะขยายตัวร้อยละ 5.2 โดยเป็นผลจากการชะลอตัวขององค์ประกอบหลัก ๆ ของ GDP ในเกือบจะทุกรายการ จะยกเว้นก็แต่การลงทุนของภาครัฐ

ในขณะเดียวกัน ก็คาดว่าในปี 2548 นี้ เศรษฐกิจไทยอาจจะเผชิญกับการขาดดุลการค้าเป็นปีแรกนับตั้งแต่ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจเป็นต้นมา โดยอาจจะขาดดุลประมาณ 948 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่เกินดุล 1.68 พันล้านดอลลาร์ฯในปี 2547 ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น คาดว่า มูลค่าการเกินดุลอาจจะปรับลดลงมาที่ระดับ 4.1 พันล้านดอลลาร์ฯ (หรือคิดเป็นประมาณ 2.2% ของ GDP) จาก 7.3 พันล้านดอลลาร์ฯ (หรือประมาณ 4.5% ของ GDP) ในปี 2547

ทั้งนี้ การชะลอตัวของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประชาชนดังกล่าว ทำให้เกิดความเป็นไปได้ว่า การขยายตัวของสินเชื่อใหม่ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย อาจจะเป็นไปในลักษณะที่ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว มากกว่าที่จะเพิ่มขึ้นในลักษณะก้าวกระโดด ในขณะที่การปรับลดของสภาพคล่องในระบบ น่าจะยังคงดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้นของธนาคารพาณิชย์ในระบบ น่าที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 โดยคงจะมีขนาดการปรับขึ้นไม่เกินไปกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินของธปท. กล่าวคือ คาดว่าคงจะปรับขึ้นไม่เกินร้อยละ 1.00 จากระดับ ณ ปลายปี 2547

แม้ว่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐฯอาจจะกว้างขึ้น จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างจำกัดของไทย แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าแนวโน้มค่าเงินบาทยังคงน่าที่จะผูกกับทิศทางค่าเงินในภูมิภาค มากกว่าที่จะถูกกระทบโดยค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเงินดอลลาร์ฯ ยังคงถูกกดดันจากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เงินบาทอาจจะมีค่าเฉลี่ยในปี 2548 ที่ 38.5 บาท/ดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 40.2 บาท/ดอลลาร์ฯในปี 2547 ในขณะที่คาดว่าจะมีค่าปิด ณ ปลายปี 2548 ที่ 38.0 บาท/ดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับค่า ณ ปลายปี 2547 ที่ 38.85 บาท/ดอลลาร์ฯ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการเงินของทางการไทยอาจจะเผชิญกับความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากตัวแปรสำคัญหลายตัว มิได้เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน (เช่น GDP ชะลอตัวลง แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน เงินบาทก็มีแนวโน้มค่าแข็งขึ้นจากปีก่อนหน้า แต่ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศกลับมีแนวโน้มที่จะแย่ลง) ทำให้คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจจะต้องเลือกให้น้ำหนักความสำคัญของเป้าหมายทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ในการตัดสินใจในเรื่องอัตราดอกเบี้ย หรืออาจจะต้องดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะต้องคอยระวังว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว อาจจะส่งผลกระทบกลับมาต่อตัวแปรอื่น ๆ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจด้วย



สรุปประมาณการตัวแปรทางการเงินในปี 2548

ตัวแปรทางการเงิน

2547

ค่าคาดการณ์ปี 2548
การเพิ่มของยอดสินเชื่อปกติ (Performing Loans) *
2.3 แสนล้านบาท
2.5 แสนล้านบาท
อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 14 วัน ของ ธปท. (ณ สิ้นปี)
2.00%
ไม่เกิน 3.00%
อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน

ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ (ณ สิ้นปี)
1.00%
ไม่เกิน 2.00%
ค่าเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ (ณ สิ้นปี)
38.85
38.0

* หลังปรับรายการ IFCT แล้ว

ประมาณการโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย