Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 เมษายน 2548

เศรษฐกิจไทย

สงกรานต์ปี'48 : คนกรุงฯใช้จ่ายสะพัด 1.8 หมื่นล้านบาท

คะแนนเฉลี่ย

เทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีวันหยุดติดต่อกันนานถึง 5 วัน คือ ระหว่างวันที่ 13 - 17 เมษายน 2548 ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการเดินทางท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม จากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบบรรยากาศการท่องเที่ยวไทยตั้งแต่ปลายปี 2547 ต่อเนื่องมาในปี 2548 อาทิ เหตุการณ์สึนามิ ปัญหาราคาน้ำมัน ปัญหาภัยแล้งรุนแรง และปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นอกจากนี้ ในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์เพียงไม่กี่วันได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงซ้ำ และตามมาด้วยเหตุระเบิด 3 จุดในเวลาใกล้เคียงกันที่อำเภอหาดใหญ่และตัวเมืองสงขลา สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลบั่นทอนตลาดการท่องเที่ยวในประเทศให้คลายความคึกคักลงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้

ดังนั้น เพื่อทราบถึงแนวโน้มตลาดของธุรกิจที่เกี่ยวข้องในเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งธุรกิจด้านการท่องเที่ยว บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการร่วมกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ และการใช้เวลาในช่วงวันหยุดสงกรานต์ของคนกรุงเทพฯในปีนี้ โดยทำการสำรวจเชิงคุณภาพ ระหว่างวันที่ 23 - 30 เมษษยน 2548 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,478 คน

จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ตั้งใจจะร่วมกิจกรรมสำคัญในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยการทำบุญ การถวายสังฆทาน การทำบุญบังสุกุลบรรพบุรุษ และสรงน้ำพระเป็นกิจกรรมหลัก กิจกรรมที่ได้รับความสำคัญรองลงมา คือ การเล่นสาดน้ำ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ และการเลี้ยงสังสรรค์ในหมู่ญาติมิตร

ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในการร่วมกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ประมาณคนละ 1,652.21 บาท แต่เนื่องจากมีผู้ตั้งใจจะร่วมกิจกรรมสงกรานต์ในกรุงเทพฯเพียงร้อยละ 31.0 ซึ่งลดลงจากปีที่แล้ว ทำให้มีเม็ดเงินคิดเป็นมูลค่าเพียง 1,700 ล้านบาทสะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในกรุงเทพฯ อาทิ ร้านจำหน่ายเครื่องสังฆทาน ร้านจำหน่ายดอกไม้และพวงมาลัย ร้านจำหน่ายน้ำอบ ดินสอพอง ผ้าไหว้สงกรานต์ เสื้อลายดอกสีสดและเสื้อม่อฮ่อม ร้านจำหน่ายปืนฉีดน้ำ ขันและถังพลานสติก เป็นต้น

จากการสำรวจพบว่า การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศช่วงเทศกาลสงกรานต์คลายความคึกคักลงมาก คงมีในส่วนของการเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดและการเดินทางไปเยี่ยญาติในต่างจังหวัด เพื่อร่วมกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศที่คึกคักกว่าทุกปี

ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 59.1 ตั้งใจจะเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดและเยี่ยมญาติในต่างจังหวัด ในจำนวนนี้ร้อยละ 76.6 ตั้งใจจะซื้อของไปฝากญาติพี่น้องในต่างจังหวัด สำหรับของฝากที่ได้รับความนิยมใน 3 อันดับแรก ได้แก่

1.เสื้อผ้า

2.ขนม

3.ของเด็กเล่นและของใช้ต่างๆ

ค่าใช้จ่ายในการซื้อของฝากเฉลี่ยประมาณคนละ 1,298.30 บาท ทำให้ประมาณการว่าจะมีเม็ดเงินคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,300 ล้านบาทสะพัดสู่บรรดาห้างสรรพสินค้า และร้านจำหน่ายสินค้าของฝากต่างๆในกรุงเทพฯช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์

สำหรับค่าใช้จ่ายโดยรวมของผู้ที่เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด (รวมค่าเดินทาง ค่าซื้อของฝาก ค่าซื้ออาหารและเครื่องดื่มระหว่างเดินทาง และการร่วมกิจกรรมสงกรานต์ในต่างจังหวัด) เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 3,006.10 บาท หรือคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 6,800 ล้านบาท

ในส่วนของผู้ที่ตั้งใจจะเดินทางไปเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีสัดส่วนร้อยละ 11.1 ซึ่งมีแนวโน้มลดลงจากที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่ คือ เกือบร้อยละ 70 เป็นการเดินทางไปเที่ยวแบบค้างคืน ในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 6.1 ที่ซื้อรายการนำเที่ยวจากบริษัททัวร์ เพราะส่วนใหญ่นิยมเดินทางไปเที่ยวกันเอง

แหล่งท่องเที่ยวในประเทศที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 จากคนกรุงเทพฯในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ คือ แหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือ ซึ่งมีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง รองลงมา ได้แก่
  • แหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในภาคตะวันออก ซึ่งมีพัทยาและเกาะช้างที่ได้รับความนิยมมาก
  • แหล่งท่องเที่ยวชายทะเลฝั่งอ่าวไทย อาทิ ชะอำ หัวหิน และสมุย ได้รับความนิยมพอๆกับแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลฝั่งอันดามัน อาทิ ภูเก็ต และกระบี่

นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ อาทิ กาญจนบุรี นครนายก นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม เป็นต้น

ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวแบบค้างคืนเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 3,398.77 บาท และค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวแบบไม่ค้างคืนเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 1,173.81 บาท ทำให้โดยรวมแล้วมีการใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,200 ล้านบาท

ในส่วนของผู้ที่ตั้งใจจะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศในช่วงสงกรานต์ปีนี้มีสัดส่วนร้อยละ 0.4 โดยส่วนใหญ่ซื้อแพ็กเกจตั๋วเครื่องบินพร้อมที่พักในราคาถูกพิเศษ แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในช่วงสงกรานต์ปีนี้ ได้แก่ จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และออสเตรเลียสำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 6,000 ล้านบาท

ในส่วนของผู้ที่เลือกจะพำนักอยู่ในกรุงเทพฯช่วงสงกรานต์มีสัดส่วนร้อยละ 29.4 นั้น ส่วนใหญ่มีแผนทำกิจกรรมนอกบ้าน อาทิ การรับประทานอาหารนอกบ้าน ชมภาพยนตร์ เดินซื้อของ เที่ยวสวนสัตว์หรือสวนสนุกกลางแจ้ง เป็นต้น ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการทำกิจกรรมนอกบ้านดังกล่าวอยู่ที่คนละ 1,791.83 บาท โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 2,000 ล้านบาทซึ่งสะพัดสู่ธุรกิจบริการที่รองรับกิจกรรมดังกล่าว

โดยรวมแล้วผู้ที่พำนักในกรุงเทพฯทั้งผู้ที่มีภูลำเนาในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดใช้จ่ายในด้านต่างๆช่วงเทศกาลสงกรานต์คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 18,000 ล้านบาท


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย