Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 เมษายน 2548

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยปี 48 ... การรักษาเสถียรภาพยังคงเป็นประเด็นสำคัญ

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี รวมทั้งปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2548 โดยมีประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้:-




ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยอาจจะมีอัตราการขยายตัวเพียง 4.0% ในไตรมาสแรกของปี 2548 นี้ ลดลงจากที่ขยายตัว 5.1% ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี ในขณะที่อัตราการขยายตัวของปี 2548 อาจจะอยู่ที่ 4.6% ในกรณีพื้นฐาน และอาจขยายตัวได้ 5.1% หากการส่งออกของทั้งปีสามารถขยายตัวได้ 18.0% ซึ่งลดลงจากการขยายตัวของ GDP ของไทยที่ 6.1% ในปี 2547 และลดลงจากประมาณการเดิมของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ 5.2% โดยการชะลอตัวดังกล่าวของเศรษฐกิจไทย เป็นผลมาจากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย การปรับขึ้นของราคาน้ำมัน และความไม่สงบในภาคใต้ ซึ่งล้วนส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและการใช้จ่ายภายในประเทศ ในขณะที่การส่งออกก็ได้ชะลอตัวจากปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ แม้จะคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่เหลือของปี น่าจะดีขึ้นกว่าในไตรมาสแรก โดยน่าจะอยู่ในช่วง 4.5-5.0% สำหรับกรณีพื้นฐาน และ 4.7-5.7% หากการส่งออกของขยายตัวได้ 18% แต่ตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่เหลือของปีจะสามารถขยายตัวได้ตามคาดหรือไม่นั้น ยังคงได้แก่ ราคาน้ำมันทั้งในตลาดโลกและในประเทศ ตัวเลขการส่งออก ตลอดจนการเบิกจ่ายเงินลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ รวมทั้งการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในไตรมาสสุดท้ายของปี

ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวดังกล่าวของเศรษฐกิจไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจเป็นประเด็นปัญหาที่มีความสำคัญมากกว่าประเด็นในเรื่องการขยายตัวของ GDP เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกนั้น เป็นผลมาจากปัจจัยทางด้านอุปทาน (supply-side shocks) ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงไม่นานนัก ในขณะที่เห็นว่าการให้น้ำหนักของทางการ น่าจะไปอยู่ที่ปัญหาการขาดดุลการค้าและการถดถอยของฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า เนื่องจากคาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะยังคงต้องเผชิญกับภาวะการถดถอยของดุลดังกล่าวต่อเนื่องในปีถัดไปอีก อันเป็นผลจากการขยายตัวของการนำเข้า

ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้จากผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งล่าสุด ธปท.จะได้ชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงในเรื่องเงินเฟ้อกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว แต่การคาดการณ์เงินเฟ้อก็อาจจะยังคงเผชิญกับความซับซ้อน ทั้งจากความเป็นไปได้ที่ราคาสินค้าที่ควบคุมอยู่ในขณะนี้อาจได้รับอนุญาติให้ทยอยปรับขึ้นในช่วงข้างหน้า รวมทั้งจากการที่รัฐบาลอาจจะต้องตัดสินใจปรับขึ้นหรือลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลหลังจากที่ภาระการขาดทุนของกองทุนน้ำมันเพิ่มสูงมากขึ้น โดยหากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น อัตราเงินเฟ้อในประเทศก็อาจจะขยับขึ้นสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้

สำหรับนโยบายการคลัง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการรักษาวินัยทางการคลัง ภายใต้กรอบงบประมาณแบบสมดุลของรัฐบาล แต่เพื่อให้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลควรจะเร่งกระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมทั้งควรจะให้รายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการเมกะโปรเจกต์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อที่จะสามารถประเมินผลที่จะมีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและสภาพคคล่องในระบบได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย