Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 กรกฎาคม 2548

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยปี 2548 และแนวโน้มปี 2549

คะแนนเฉลี่ย

คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้เผชิญกับปัจจัยลบนานับประการ ตั้งแต่เหตุธรณีพิบัติภัยในช่วงปลายปี 2547 ไปจนถึงปัญหาภัยแล้ง เหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ ตลอดจนการปรับขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันในตลาดโลก และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ตามมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2548 รวมทั้งแนวโน้มในปี 2549 ดังต่อไปนี้:-

ประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยใน ปี 2548-2549
(หน่วย: อัตราการเปลี่ยนแปลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ยกเว้นระบุ)

ที่มา: บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

โดยสรุปแล้ว คาดว่าในปี 2548 นี้ เศรษฐกิจไทยคงจะเผชิญกับการชะลอตัวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 4 ปี อันเป็นผลจากปัจจัยลบต่าง ๆ โดยเฉพาะการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน การหดตัวของการท่องเที่ยว ปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยสำหรับปี 2548 นี้ ลงเป็นร้อยละ 3.6-4.0 จากประมาณการเดิมที่ 4.6-5.1 อย่างไรก็ตาม ก็คาดว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้ในปีหน้า โดยแรงผลักดันการฟื้นตัวที่สำคัญ คงจะได้แก่ การใช้จ่ายของภาครัฐในโครงการลงทุนต่าง ๆ รวมทั้งแนวโน้มการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ในขณะที่ก็คาดว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจจะอ่อนตัวลง ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักของโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และ จีน

แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2549 ดังกล่าว น่าจะส่งผลในทางลบต่อการส่งออกของไทยในปีหน้า และในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยก็อาจจะมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2548 ที่ผ่านมา โดยเป็นผลเนื่องมาจากการขยายตัวของการนำเข้าตามกิจกรรมการลงทุนต่าง ๆ ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังคงเป็นประเด็นปัญหาทางเสถียรภาพ ที่จะมีอิทธิพลทั้งต่อการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังของทางการไทยในปี 2549 ต่อเนื่องจากในปีที่ผ่านมานี้ โดยคาดว่า การขาดดุลดังกล่าวน่าจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศ ยังคงจะต้องทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ต่อเนื่องจากที่ดำเนินการมาในปี 2548 เพื่อที่จะให้อัตราดอกเบี้ยของไทยขึ้นไปอยู่เหนือระดับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในประเทศ รวมทั้งใกล้เคียงกับระดับอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ ในขณะที่ในด้านการคลังนั้น รัฐบาลควรที่จะต้องทบทวนการใช้จ่ายในโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ หากโครงการเหล่านั้นส่งผลต่อการนำเข้าและการขาดดุลการค้าของประเทศ รวมทั้งรัฐบาลควรที่จะต้องรักษาวินัยทางการคลัง โดยการพยายามที่จะรักษางบประมาณสมดุล เพราะการขาดดุลงบประมาณจะยิ่งทำให้ปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดเลวร้ายลงไปอีก และจะกลายเป็นภาวะการขาดดุลคู่ (Twin Deficits) เหมือนกับที่สหรัฐฯกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ซึ่งอาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน จนมีผลต่อภาวะการลงทุนในตลาดทุน ตลอดจนกดดันค่าเงินบาทได้

สำหรับการบริโภคของภาคเอกชนนั้น แม้จะคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวได้ในปีหน้า แต่แนวโน้มการปรับเพิ่มของอัตราดอกเบี้ยในระบบ ทั้งจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน ประกอบกับการที่ราคาน้ำมันในประเทศน่าจะยังคงทรงตัวในระดับที่สูง (อันเป็นผลจากการทยอยลดภาระการขาดทุนของกองทุนน้ำมัน) ล้วนจะเป็นปัจจัยที่กดดันการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของภาคครัวเรือน ซึ่งทำให้การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคในปี 2549 น่าจะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากในปี 2548 ที่ผ่านมา โดยการชะลอตัวดังกล่าว น่าจะเห็นได้ชัดในธุรกิจที่มีความอ่อนไหวต่อกำลังซื้อและอัตราดอกเบี้ย อันได้แก่ สินค้าคงทน (durable goods) ต่าง ๆ เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งความต้องการที่อยู่อาศัย และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ในภาพรวมแล้ว หลังจากที่เศรษฐกิจไทยต้องประสบการชะลอตัวครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2549 ถูกฝากความหวังไว้ที่การขยายตัวของการลงทุนและการใช้จ่ายต่าง ๆ ของภาครัฐ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าคงจะประกาศออกมาในเร็ว ๆ นี้ ตลอดจนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ในขณะที่การส่งออกและการบริโภคของภาคเอกชน น่าจะยังคงชะลอลงตัวต่อเนื่องจากปี 2548 ส่วนปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น มีความเป็นไปได้ว่า การขาดดุลดังกล่าวอาจจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นไปอีกในปีหน้า อันเป็นผลจากการขยายตัวของการนำเข้าที่เกิดขึ้นตามการใช้จ่ายเพื่อการลงทุน อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการปรับค่าเงินหยวนของจีน น่าจะทำให้ค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาครวมทั้งเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจจะช่วยบรรเทาแรงกดดันที่เงินบาทได้รับจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยได้ นอกจากนี้ เงินบาทยังอาจได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินไทย ที่ดำเนินต่อเนื่องมาจากในปี 2548 ที่ผ่านมา ในขณะที่คาดว่า อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯน่าที่จะใกล้ถึงจุดทรงตัวในอีกไม่นานนี้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย