Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 กรกฎาคม 2548

เศรษฐกิจไทย

จีนปรับค่าเงินหยวน ... ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเงินไทย

คะแนนเฉลี่ย

จีนปรับค่าเงินหยวน ... ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเงินไทย


เย็นวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทางการจีนได้ประกาศปรับค่าเงินหยวนขึ้นไปที่ 8.11 หยวนต่อดอลลาร์ฯ จากเดิมที่อยู่ที่ 8.28 หยวนต่อดอลลาร์ฯ หรือขึ้นไปร้อยละ 2.1 นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนจากการผูกกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็นผูกกับตะกร้าเงิน ซึ่งคาดว่า คงจะประกอบไปด้วยเงินดอลลาร์ฯ เงินเยน เงินยูโร และเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยทางการจีนจะอนุญาตให้เงินหยวน/ดอลลาร์ฯ สามารถเคลื่อนไหวได้ในช่วง (trading band) ไม่เกินบวกลบร้อยละ 0.3 จากค่ากลางที่ทางการจีนกำหนด โดยเท่ากับกรอบการเคลื่อนไหวเดิมในช่วงที่เงินหยวนผูกกับเงินดอลลาร์ฯ หลังการประกาศดังกล่าว ค่าเงินในภูมิภาคได้ต่างพากันแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในช่วง 1 วันหลังการประกาศของทางการจีน เงินเยนได้แข็งค่าขึ้นกว่าร้อยละ 2.0 ตามมาด้วยเงินดอลลาร์สิงค์โปร์ (+1.7%) เงินวอนเกาหลีใต้ (+1.4%) ตลอดจนเงินบาท (+1.4%) ทั้งนี้ การที่ค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ น้อยกว่าอัตราการเพิ่มค่าของเงินหยวน ทำให้ผลในรอบแรกนี้ก็คือ ความสามารถในการแข่งขันของค่าเงินในภูมิภาคเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเงินหยวน โดยที่ไทยน่าจะได้รับประโยชน์จากการส่งออกไปยังจีน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ ที่จีนใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ส่วนการส่งออกสินค้าในหมวดสิ่งทอ ตลอดจนสินค้าอื่น ๆ ที่ใช้แรงงานในสัดส่วนสูง ที่มีจีนเป็นคู่แข่งโดยตรงนั้น อาจจะไม่สามารถประเมินผลได้ชัดเจนนัก เพราะความได้เปรียบจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นน้อยกว่าค่าเงินหยวนนั้น อาจจะยังคงมีขนาดไม่มากพอ เมื่อเทียบกับความแตกต่างระหว่างต้นทุนการผลิตของผู้ส่งออกของจีนกับผู้ประกอบการไทย

นอกจากการปรับเพิ่มค่าเงินหยวนร้อยละ 2.1 แล้ว ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่ควรจะตระหนักก็คือ จีนได้หันมาผูกค่าเงินของตนกับตะกร้าเงิน ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเงินแบบค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก ที่จะทำให้การเคลื่อนไหวของเงินหยวน/ดอลลาร์ฯ มีอัตราน้อยกว่าการเคลื่อนไหวของเงินเยน/ดอลลาร์ฯ และเงินยูโร/ดอลลาร์ฯ ในขณะเดียวกัน ทางการจีนยังจำกัดกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน/ดอลลาร์ฯไว้ที่เพียงร้อยละ 0.3 จากค่ากลางที่ทางการจีนเป็นผู้กำหนด ซึ่งการใช้ระบบดังกล่าวน่าจะทำให้จีนยังคงสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันของตนไว้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเงินดอลลาร์ฯตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้เงินเยนและเงินยูโรแข็งค่าขึ้น แต่ภายใต้ระบบตะกร้าเงินที่จีนใช้ เงินหยวนจะแข็งค่าขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าเงินเยนและเงินยูโร ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การปรับเพิ่มค่าเงินหยวนของจีนในวันที่ 21 กรกฎาคม อาจทำให้ความได้เปรียบของจีนต่อประเทศอื่น ๆ ในเรื่องค่าเงินลดน้อยลงเฉพาะในช่วงแรก ๆ เท่านั้น ยกเว้นว่าจีนจะมีการปรับเพิ่มค่าเงินหยวนอีกอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผลต่อตลาดเงินและตลาดทุนนั้น อาจจะมองได้ว่า สำหรับตลาดสหรัฐฯแล้ว การปรับค่าเงินหยวนของจีน น่าจะถือได้ว่าเป็นผลดีต่อตลาดหุ้น แต่เป็นปัจจัยลบต่อตลาดพันธบัตร เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ฯที่อ่อนตัวลง (และอาจจะอ่อนตัวลงไปอีก) น่าจะส่งผลกดดันต่ออัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ส่วนตลาดทุนของไทยนั้น การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นน้อยกว่าเงินหยวน น่าจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์และวัตถุดิบไปยังจีน รวมทั้งต่อธุรกิจท่องเที่ยวที่มีจีนเป็นฐานลูกค้า ในขณะที่ผลดีที่อาจมีต่อผู้ประกอบการที่แข่งขันโดยตรงกับจีน เช่น ในหมวดสิ่งทอนั้น ยังคงไม่ชัดเจนนัก อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากระแสการเก็งกำไรในค่าเงินหยวนและค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาค อาจจะส่งผลให้เงินทุนจากต่างประเทศ ไหลเข้าสู่ตลาดทุนของไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทย แต่ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้ตลาดหุ้นและค่าเงินบาทมีความผันผวนมากขึ้นได้ ส่วนผลต่อตลาดพันธบัตรนั้น การแข็งค่าของเงินบาทน่าที่จะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อ ผ่านการปรับลดของต้นทุนการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งทำให้น่าจะถือได้ว่าเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดพันธบัตรไทย

แต่กระนั้นก็ดี สิ่งที่ตามมาจากการปรับค่าเงินหยวนของจีน ก็คือความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (เพราะจีนอาจจะมีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวอีกในอนาคต รวมทั้งเงินดอลลาร์ฯก็ยังคงอยู่ภายใต้ความเสี่ยงจากปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ) ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าว นอกจากจะมีผลต่อผู้ส่งออกและนำเข้าแล้ว ยังจะมีผลโดยตรงต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ในการที่จะบริหารจัดการทุนสำรองของประเทศ ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น หลังจากที่ไทยมีแนวโน้มที่จะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปีถัด ๆ ไป ต่อเนื่องจากที่ขาดดุลในปี 2548 นี้ ฬ


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย