Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 สิงหาคม 2548

เศรษฐกิจไทย

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ... ราคาน้ำมันยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ

คะแนนเฉลี่ย

นัตั้งแต่ปลายปี 2547 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยได้เผชิญกับปัจจัยลบนานับประการ ตั้งแต่เหตุธรณีพิบัติภัย เหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ ปัญหาภัยแล้ง ตลอดจนการปรับขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ตามมา ซึ่งปัจจัยลบเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้จ่ายของภาคเอกชน ผ่านการปรับลดของความเชื่อมั่นทั้งของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่ได้ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี จนทำให้เกิดคำถามว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวจากภาวะดังกล่าวได้หรือไม่? ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 ตลอดจนในปี 2549 ดังต่อไปนี้:-

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2548

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 จะมีอัตราการขยายตัวจากปีก่อนหน้า (year-on-year) ที่ร้อยละ 3.7 โดยปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในช่วงครึ่งแรกของปี (โดยคาดว่า GDP ในไตรมาสที่สองปี 2548 จะขยายตัวร้อยละ 3.5 จากร้อยละ 3.3 ในไตรมาสแรก)

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2549

สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2549 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงยืนตัวเลขประมาณการเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้ในปีหน้า โดยจะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0-5.0 เพิ่มขึ้นจากที่จะขยายตัวร้อยละ 3.6 ในปี 2548 ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า น่าจะเป็นผลมาจากปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่: 1.) การใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่าง ๆ (เมกะโปรเจกต์) 2.) การฟื้นตัวของความเชื่อมั่นของภาคเอกชน หลังจากที่ข่าวร้ายต่าง ๆ น่าจะได้ถูกซึมซับไปหมดแล้ว ภายใต้สมมุติฐานว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกน่าจะอ่อนตัวลงได้ในปีหน้า และ 3.) การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว หลังจากในปี 2548 ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวของไทยถูกกระทบจากเหตุธรณีพิบัติภัยและสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้

ราคาน้ำมันยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทย

จะเห็นได้ว่า สมมุติฐานสำคัญของการวิเคราะห์ข้างต้นคือ ค่าเฉลี่ยของราคาน้ำมันดิบในปี 2549 อ่อนตัวลงจากในปี 2548 ที่ผ่านมา ซึ่งเหตุผลสนับสนุนสมมุติฐานดังกล่าวคือ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักของโลกในปีหน้า รวมทั้งการที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ปรับตัวเพิ่มในอัตราที่ค่อนข้างสูงมาตั้งแต่ปี 2546 แล้ว ในขณะที่วัฏจักรของราคาน้ำมันในอดีตได้บ่งชี้ว่า ราคาน้ำมันมักจะอ่อนตัวลงหลังจากที่มีการปรับขึ้นในอัตราที่มากเป็นเวลาติดต่อกันเกิน 2 ปี อย่างไรก็ตาม หากสมมุติฐานดังกล่าวไม่เป็นจริง ตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในปีหน้า ก็คงจะเปลี่ยนไปจากกรณีพื้นฐานที่ได้คาดการณ์ไว้ในข้างต้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงผลของราคาน้ำมันต่อตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจในปี 2549 ดังตารางต่อไปนี้ ยกตัวอย่างเช่น หากค่าเฉลี่ยของราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ปรับขึ้นไปยืนระดับที่ 70 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล ตลอดช่วงปี 2549 แล้ว อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า อาจจะอยู่ที่เพียงร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับกรณีพื้นฐาน (Base Case) ที่ร้อยละ 4.5 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยก็อาจจะขึ้นไปที่ร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับร้อยละ 3.5 ในกรณีพื้นฐาน



ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย