Display mode (Doesn't show in master page preview)

31 สิงหาคม 2548

เศรษฐกิจไทย

ปัญหาแรงงานไทยในไต้หวัน : ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไข

คะแนนเฉลี่ย

จากการที่คนงานไทยในไต้หวันจำนวนหนึ่งได้ชุมนุมประท้วงนายจ้างจนลุกลามกลายเป็นการจราจลเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม 2548 ที่ผ่านมา โดยมีการจุดไฟเผาอาคารและทรัพย์สิน แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ก็สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท โดยคนงานไทยที่ก่อเหตุเป็นลูกจ้างของบริษัทเกาสง แรบบิด ทรานซิส คอร์เปอร์เรชั่น( Kaohsiung Rapid Transit Corporation: KRTC) ที่กำลังก่อสร้างรถไฟฟ้าในเมืองเกาสงทางภาคใต้ของไต้หวัน

สำหรับสาเหตุที่ก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงของคนงานไทยที่บานปลายไปสู่การจราจลนั้น เนื่องมาจากคนงานไทยไม่พอใจกฎระเบียบของฝ่ายนายจ้างที่เข้มงวดเกินไป จนทำให้คนงานไทยเกิดความรู้สึกเครียด และก่อการประท้วงแสดงความไม่พอใจขึ้น แต่ในที่สุดสถานการณ์ก็คลี่คลายไปสู่ความสงบ โดยคนงานไทยได้กลับเข้ามาทำงานตามปกติ

เหตุการณ์ความไม่สงบของคนงานไทยในไต้หวันได้เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่เหตุการณ์ไม่รุนแรงเท่ากับครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าคนงานไทยที่ทำงานในไต้หวันมีความรู้สึกเครียดอยู่ภายในที่รอวันระเบิดตลอดเวลา ดังนั้นจำเป็นที่รัฐบาลไทยและฝ่ายนายจ้างชาวไต้หวันจะต้องให้ความสนใจ และต้องเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็วก่อนที่เหตุการณ์อาจจะเกิดขึ้นซ้ำเหมือนในอดีตที่มีคนงานไทยจำนวนมากปะทะกับคนงานชาวฟิลิปปินส์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่าปัญหาการส่งคนงานไทยไปทำงานในไต้หวันเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งนี้เนื่องจาก คนงานไทยในไต้หวันสามารถทำรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศส่งกลับประเทศไทย ในปี 2547 ถึง 16,207 ล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ของประเทศได้ส่วนหนึ่งด้วย

นอกจากนั้นไต้หวันยังเป็นตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งในปัจจุบัน ขณะเดียวกันการจัดส่งคนงานไทยไปต่างประเทศยังมีผลกระทบต่อปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาระหนี้ของคนงานที่ต้องกู้ยืมเงินเพื่อใช้จ่ายก่อนการเดินทางถึงคนละ100,000- 150,000 บาท นอกจากนั้นยังมีครอบครัวของคนงานรอรับเงินจากคนงานไทยในต่างประเทศที่มีมากกว่าปีละเกือบ 1 แสนครอบครัว ขณะเดียวกันยังมีปัญหาการว่างงานที่อาจจะสูงขึ้นในประเทศถ้าหากคนงานต้องเดินทางกลับประเทศ ขณะที่มีบริษัทจัดหางานที่ทำหน้าที่จัดส่งคนงานไปต่างประเทศอีกเกือบ 1 พันบริษัทที่จะต้องได้รับผลกระทบกระเทือนไปด้วย

ดังนั้นการแก้ปัญหาการจัดส่งแรงงานไปทำงานในไต้หวันคงจะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง บริษัทจัดหางาน และทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเตรียมความพร้อมให้คนงานก่อนเดินทางไปต่างประเทศ การให้ความรู้และความเข้าในเรื่องสัญญาและระเบียบของนายจ้าง การติดตามความเป็นอยู่ของคนงานไทยอย่างใกล้ชิด การมีโทรศัพท์สายด่วนให้คนงานไทยสามารถโทรกลับจากต่างประเทศได้ และจะต้องมีการฝึกอบรมคนงานให้ได้ทำงานในตำแหน่งที่มีเงินเดือนสูงด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย