Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 ตุลาคม 2548

เศรษฐกิจไทย

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ : มูลค่าเงินลงทุนสุทธิที่ลดลง ... ผลต่อเศรษฐกิจไทย

คะแนนเฉลี่ย

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ (Net Flows of Foreign Direct Investment or FDI) ลดลงอย่างมากในระยะที่ผ่านมา สวนทางกับกระแสความสนใจของนักลงทุนต่างชาติที่มองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยในปี 2547 มีมูลค่า 835 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากที่เคยมีมูลค่าโดยเฉลี่ยประมาณ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในช่วง 5 ปีก่อนหน้า และเป็นมูลค่าที่ต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 การลงทุนโดยตรงสุทธิจากต่างประเทศมีมูลค่า 207 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังคงลดลงร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และถ้าพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economies) ในเอเชีย ไทยอยู่ในอันดับที่รั้งท้ายประเทศอื่นๆ โดยจีนมีมูลค่า 29,502 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อินโดนีเซีย 2,568 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฟิลิปปินส์ 495 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนอินเดียและมาเลเซีย ยังเป็นตัวเลขไตรมาสแรก แต่ก็มีมูลค่าสูงกว่าไทย โดยอยู่ที่ 1,296 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 811 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ จากตัวเลขที่แตกต่างกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงนี้เอง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้วิเคราะห์สาเหตุและผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในปัจจุบัน รวมทั้งแนวโน้มการลงทุนในระยะข้างหน้า

จากการวิเคราะห์ภาวะการลงทุนโดยตรงสุทธิจากต่างประเทศ ได้พบว่ามีประเด็นที่สำคัญที่อธิบายปรากฎการณ์ที่การลงทุนโดยตรงสุทธิที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา คือ
  • การลงทุนโดยตรงสุทธิที่ลดลงเป็นผลจากการไหลออกของเงินลงทุนมูลค่าสูง แม้ว่าการลงทุนโดยตรงไหลเข้ายังมีระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2547 การลงทุนไหลออกมีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 6,748 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนเงินลงทุนไหลออกต่อเงินลงทุนไหลเข้าสูงถึงร้อยละ 89 ในปี 2547 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 93 ในช่วงครึ่งแรกปี 2548
  • เงินทุนไหลออกส่วนใหญ่เกิดจากธุรกิจนอกภาคอุตสาหกรรม โดยในปี 2547 สัดส่วนเงินทุนไหลออกต่อเงินทุนไหลเข้าของธุรกิจนอกภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับสูงถึงร้อยละ 94 ส่วนภาคอุตสาหกรรมมีการไหลออกในอัตราร้อยละ 76
  • เงินทุนไหลออกส่วนใหญ่เป็นการชำระคืนเงินกู้ให้แก่บริษัทแม่ในต่างประเทศ โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 75 ของเงินทุนไหลออกทั้งหมด
  • การลงทุนในระยะหลัง เข้ามาในรูปเงินกู้ยืมจากบริษัทแม่มากขึ้น ทำให้มีการทยอยชำระคืนเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการกู้ยืม ปัจจุบัน การลงทุนโดยตรงในรูปเงินกู้ยืมมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าเงินทุนไหลเข้าทั้งหมด เทียบกับที่เคยต่ำกว่าร้อยละ 30 ในช่วงทศวรรษ 1990

ผลจากการวิเคราะห์ พบว่าแม้ว่ามูลค่าการลงทุนโดยตรงสุทธิของไทยลดลงอย่างมาก แต่การไหลออกของเงินทุนเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของเงินทุนที่บริษัทต่างชาติใช้เพื่อขยายการลงทุนในประเทศไทย ประกอบกับเงินลงทุนโดยตรงที่ไหลเข้ามายังประเทศไทยยังมีระดับสูงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยที่สนับสนุนว่าสถานะของไทยในด้านการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ไม่เลวร้ายอย่างที่แสดงออกมาผ่านตัวเลข นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศไทย โดยแท้จริงแล้วอาจดีกว่าที่เห็นจากตัวเลข FDI Flows อยู่มาก เนื่องจากประเทศไทยไม่มีการนับรวมตัวเลขการนำผลกำไรกลับมาลงทุนเข้าไว้เป็น FDI แม้ว่าการลงทุนของบริษัทลูกของต่างชาติที่ขยายการลงทุนในไทยจำนวนมาก ได้ใช้แหล่งเงินทุนจากผลกำไรสะสมของบริษัทลูกในประเทศ

สำหรับแนวโน้มการลงทุนโดยตรงสุทธิจากต่างประเทศในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการลงทุนโดยตรงไหลออกน่าที่จะปรับตัวลดลง โดยมีเหตุผลดังนี้
  • การวิเคราะห์แนวโน้มในระยะยาวพบว่า สัดส่วนเงินลงทุนโดยตรงไหลออกต่อเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้าปัจจุบันที่อยู่ที่ร้อยละ 89 ในปี 2547 และ ร้อยละ 93 ในช่วงครึ่งแรก ปี 2548 เป็นอัตราที่สูงกว่าแนวโน้มระยะยาวซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 43-57 มาก
  • ถ้าพิจารณาจากเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้าในรูปเงินกู้ ซึ่งเป็นส่วนที่น่าจะต้องมีเงินทุนไหลออกในมูลค่าที่เท่ากัน เมื่อมีการชำระคืนเงินกู้จนหมด จะพบว่าเงินกู้คงค้างที่ยังไม่ได้ชำระคืนมีมูลค่าลดลงในปี 2547 อยู่ที่ประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2546 และคาดว่าจะลดลงอีกในปี 2548 จากเงินลงทุนโดยตรงไหลออกที่ยังคงดำเนินไปในอัตราเร่ง
  • เงินลงทุนโดยตรงไหลเข้าในรูปเงินกู้ลดลงอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่า 4,560 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2547 จากที่เคยมีมูลค่าสูงสุด 5,597 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2544 ขณะที่สัดส่วนเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้าในรูปเงินกู้ต่อเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้าทั้งหมดก็ลดมาอยู่ที่ร้อยละ 60 ในปี 2547 จากที่เคยสูงสุดร้อยละ 74 ในปี 2545

แนวโน้มการลงทุนโดยตรงไหลออกที่คาดว่าจะมีทิศทางที่ลดลง ประกอบกับการลงทุนโดยตรงไหลเข้าก็น่าจะมีมูลค่าที่สูงขึ้นในปีข้างหน้า ภายใต้เงื่อนไขที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากปี 2548 ทำให้ความเชื่อมั่นต่อการลงทุนปรับตัวดีขึ้น ทำให้โดยรวมแล้วน่าจะช่วยให้สถานะการลงทุนโดยตรงสุทธิจากต่างประเทศในไทยปรับตัวดีขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการลงทุนโดยตรงสุทธิจากต่างประเทศอาจจะมีมูลค่าสูงขึ้นไปที่ระดับประมาณ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2549 จากที่คาดว่าจะมีมูลค่าต่ำกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2548

สำหรับผลต่อเศรษฐกิจไทย จากการที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเปลี่ยนไปใช้รูปแบบเงินกู้จากบริษัทแม่หรือบริษัทในเครือในต่างประเทศมากกว่าที่จะเข้ามาลงทุนในส่วนผู้ถือหุ้นนั้น สำหรับประเทศผู้รับการลงทุน (Host Country) ผลทางเศรษฐกิจต่อการสะสมทุนที่เพิ่มขึ้นภายในประเทศ ตลอดจนผลต่อเศรษฐกิจ มหภาคที่ปรากฎในภาคเศรษฐกิจจริงอาจไม่แตกต่างกัน ทั้งในด้านขนาดของทุนทางกายภาพ (Physical Capital) หรือขนาดของกำลังการผลิต และผลผลิต (Outputs) ที่เกิดขึ้นจากการลงทุน ส่วนผลต่อดุลการชำระเงินอาจแตกต่างกันบ้างแต่อาจไม่ถึงกับมีนัยสำคัญ เนื่องจากการไหลออกของเม็ดเงินในรูปการชำระคืนเงินกู้หรือในรูปเงินปันผล ท้ายที่สุดจะถูกรวมอยู่ในดุลการชำระเงินทั้งสิ้น ความแตกต่างที่น่าจะสำคัญอาจอยู่ที่การจัดเก็บภาษีของรัฐในส่วนของภาษีธุรกิจและภาษีเงินได้จากเงินปันผล ซึ่งกรณีการลงทุนในรูปเงินกู้ รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีได้น้อยกว่าการลงทุนในรูปการถือหุ้น เนื่องจากเงินกู้ที่ชำระคืนและดอกเบี้ยจะถูกหักออกไปก่อนการคิดภาษีธุรกิจ

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับข้อมูลตัวเลขการลงทุนโดยตรงที่ทางการน่าจะต้องพิจารณาและให้ความสำคัญคือ การจัดเก็บตัวเลขการลงทุนโดยตรงให้สอดคล้องกับนิยามสากลของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ นั่นคือการจัดเก็บข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของการนำผลกำไรกลับมาลงทุนใหม่ (Reinvested Earnings) ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่แสดงอยู่ในปัจจุบันต่ำกว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอยู่ไม่น้อย และมีผลทำให้ภาพของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศไทยในสายตาของต่างชาติ ถูกมองว่าอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว การลงทุนจากต่างประเทศในไทยยังมีภาวะที่ค่อนข้างดี มุมมองของนักลงทุนเป็นปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญด้วย แม้ว่าผลในทางเศรษฐกิจต่อการสะสมทุนที่แท้จริงอาจไม่แตกต่างไปจากเดิมก็ตาม

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย