Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 พฤศจิกายน 2548

เศรษฐกิจไทย

แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยไทยปี 2549 ... จับตาเงินเฟ้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจ

คะแนนเฉลี่ย

จากการศึกษาข้อมูลในอดีต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า การเริ่มต้นของวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของระบบการเงินไทยในรอบปัจจุบัน มีความแตกต่างจากวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นสองรอบในอดีต ซึ่งเกิดขึ้นจากกลไกการขาดแคลนสภาพคล่องของตลาด ท่ามกลางแรงผลักดันของปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดระดับสูงและภาวะเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น โดยจุดเริ่มต้นของวัฏจักรในรอบปัจจุบันถูกนำโดยการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อเป้าหมายการรักษาเสถียรภาพของอัตราเงินเฟ้อตามกรอบ Inflation Targeting ของธปท. ซึ่งไม่ได้เป็นเพราะแรงผลักดันด้านความจำเป็นของสภาพคล่องเช่นในอดีต อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สามารถเรียนรู้ได้จากประวัติศาสตร์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอดีต ก็คือ การที่ธนาคารพาณิชย์มักจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในลักษณะ Overshooting ซึ่งจะเห็นได้จากธนาคารพาณิชย์ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยลงตามมาภายหลังอัตราดอกเบี้ยได้ขึ้นไปสูงสุดแล้วเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังพบว่า การหันกลับมาปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว มักจะสอดคล้องกับค่าผลต่างระหว่างอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่อยู่ในรูปตัวเงิน (Nominal GDP) กับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งผลต่างดังกล่าวมีค่าติดลบ นอกจากนี้ ยังพบว่า เมื่อเสร็จสิ้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมักจะมากกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม หรืออาจกล่าวได้ว่า ระยะห่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมมักจะแคบลงเมื่อธนาคารพาณิชย์สิ้นสุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

สำหรับแนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในรอบปัจจุบันนั้น ถึงแม้จะมีเหตุผลที่แตกต่างจากอดีต โดยในรอบนี้เป็นการปรับที่นำโดยทางการมิใช่เกิดจากการขาดแคลนสภาพคล่องเหมือนในอดีต แต่รูปแบบการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก นั่นคือ เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่นำโดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวมากกว่าระยะสั้น ในระหว่างที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.กำลังเคลื่อนเข้าสู่จุดสูงสุดในช่วงกลางปี 2549 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการปรับอัตราดอกเบี้ยในลักษณะ Overshooting อาจไม่เด่นชัดเช่นในอดีต เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไม่ได้เผชิญภาวะการขาดแคลนสภาพคล่องมากเท่ากับที่เคยเกิดขึ้นในวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 รอบที่ผ่านมา

สำหรับประมาณการอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราดอกเบี้ยอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. อาจจะปรับสูงขึ้นจากปัจจุบันที่ 3.75% ไปอยู่ที่ระดับ 4.00-4.25% ในช่วงปลายปี 2548 โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ดังกล่าว คงจะมีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้น และกลไกผลักดันทางด้านการแข่งขันของผลิตภัณฑ์เพื่อการออมเงินระหว่างสถาบันการเงินและกับตลาดทุน ก็คงจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามมาอีกระลอกได้ในท้ายที่สุด ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน, 1 ปี และอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมสำหรับลูกค้าชั้นดีแบบมีระยะเวลา (MLR) ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ อาจมีแนวโน้มขยับขึ้นไปที่ 2.25%, 3.00% และ 6.75% ณ ปลายปี 2548 ตามลำดับ เทียบกับระดับต่ำสุดที่อยู่ที่ 1.75%, 2.25% และ 6.25% ในปัจจุบัน


ประมาณการอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ปี 2549
ประเภทอัตราดอกเบี้ยสำหรับช่วงสิ้นงวด หรือสิ้นปี (%)
อัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน

(14 พ.ย.48)
ตัวเลขคาดการณ์ *
ปี 2548
ปี 2549
จีดีพีขยายตัว > 5%
จีดีพีขยายตัวเพียง 4%
อัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน
3.75
4.00-4.25
5.00
4.50
อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก **
- ออมทรัพย์
0.75
0.75
1.25
0.75
- ประจำ 3 เดือน
1.75
2.25
3.50
2.50
- ประจำ 1 ปี
2.25
3.00
4.25
3.50
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR
6.25
6.75
8.00
7.00

หมายเหตุ: * คาดการณ์โดย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

** เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขั้นต่ำสุดของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์

สำหรับในปี 2549 จากการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันจะปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันมาที่ระดับสูงสุด (Peak) ที่ 5.0% ในช่วงกลางปี 2549 เพื่อสกัดกั้นความเสี่ยงเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 ประกอบกับสมมติฐานที่มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าอาจมีอัตราการขยายตัวประมาณ 5.0% (ธปท.คาดการณ์อัตราการขยายตัวของจีดีพีในปีหน้าที่ 4.5-6.0%) และการขยายสินเชื่อดีสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จะต้องมีขนาดไม่น้อยกว่าที่คาดว่าจะทำได้ในปี 2548 ที่ประมาณ 2.8 แสนล้านบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน และ 1 ปี จะขยับขึ้นมาที่ 3.5% และ 4.25% ในช่วงสิ้นปี 2549 จาก 2.25% และ 3.0% ตามลำดับในช่วงสิ้นปี 2548 นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์นั้น อาจได้รับการปรับขึ้นในระหว่างปี 2549 ด้วยขนาด 0.50% มาอยู่ที่ 1.25% ในช่วงสิ้นปี 2549 ได้ โดยที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR อาจขยับขึ้นมาที่ระดับ 8.0% (ซึ่งยังไม่เกิน Nominal GDP ที่น่าจะมีค่าไม่ต่ำกว่า 8% ในปีหน้า) อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าที่คาด โดยขยายตัวเพียง 4.0% อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน และ 1 ปี อาจขยับขึ้นจากสิ้นปี 2548 ได้เพียง 0.25-0.50% มาที่ประมาณ 2.50% และ 3.50% ตามลำดับ เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ย MLR ที่อาจขยับขึ้นได้ 0.25% มาที่ 7.0%

ทั้งนี้ทั้งนั้น จุดเปลี่ยนสำคัญของวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยรอบนี้ที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คงจะได้แก่ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 เพราะทิศทางการเปลี่ยนแปลงของทั้งสองตัวแปรจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธปท. ขณะที่แนวโน้มการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และความรวดเร็วของสภาพคล่องที่ลดลง จะเป็นปัจจัยที่กำหนดความต่อเนื่องของวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของระบบการเงินไทยในรอบนี้ด้วยเช่นกัน


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย