Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 พฤศจิกายน 2548

เศรษฐกิจไทย

โครงการลงทุนภาครัฐและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ : ผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและสถานะการคลังในปี 2549

คะแนนเฉลี่ย

ตามที่ภาครัฐมีแผนการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจ็กต์อย่างต่อเนื่องในระยะปี 2548-2552 จึงเป็นที่คาดหมายว่าการลงทุนของภาครัฐจะเข้ามาเป็นแรงผลักดันที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน้อยในระยะ 2 ปีข้างหน้าที่จะมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ในปี 2549 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ด้วยแรงกระตุ้นจากโครงการลงทุนภาครัฐ การลงทุนโดยรวมของประเทศอาจมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 13.5 เทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 12.6 ในปี 2548 หรืออีกนัยหนึ่งคือ การลงทุนจะมีผลต่อการเติบโตของจีดีพีในปี 2549 สูงถึงร้อยละ 3 (ส่วนที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 2 จะเป็นผลมาจากการเติบโตของการบริโภคและการใช้จ่ายทั่วไปของรัฐบาล) อันจะส่งผลกระตุ้นให้การเติบโตทางเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นจากที่ชะลอตัวลงในปี 2548 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2549 ว่าอาจจะมีอัตราการขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 4.5-5.0 ปรับตัวดีขึ้นจากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2-4.5 ในปี 2548

อย่างไรก็ตาม สืบเนื่องจากประเด็นการระงับการกระจายหุ้นของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) เป็นการชั่วคราวโดยศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดคำถามขึ้นในขณะนี้ว่า ทิศทางการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ยังไม่มีความชัดเจนจะมีผลกระทบต่อแผนการลงทุนของภาครัฐมากน้อยเพียงใด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงกรณีผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยสรุป ดังนี้
  • ในกรณีที่กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจล่าช้าไปจากกำหนด แต่ท้ายที่สุดสามารถระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ได้ในช่วงปี 2549 ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแผนการลงทุนอาจมีไม่มากนัก ขณะที่ฐานะการคลังทั้งรายได้รัฐบาลและระดับหนี้สาธารณะก็น่าที่จะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเป้าหมายที่ได้ประเมินไว้เดิม
  • สำหรับผลกระทบ กรณีที่รัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง ไม่สามารถกระจายหุ้นได้ในปี 2549 มีดังนี้คือ
  • ผลกระทบต่อการใช้จ่ายวงเงินงบประมาณปี 2549 ของรัฐบาล ในส่วนของรายได้ของกระทรวงการคลังที่จะขาดหายไปจากอุปสรรคในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจำนวน 15,100 ล้านบาทนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าผลกระทบอาจมีไม่มากนัก เนื่องจากรายได้จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในปี 2549 ไม่ใช่รายได้หลักของรัฐบาลและถือว่าเป็นจำนวนเงินไม่สูงนัก ซึ่งถ้าหากเศรษฐกิจยังเติบโตได้ในเกณฑ์ดีและรัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้ได้เกินเป้าหมาย ก็อาจสามารถชดเชยรายรับที่ขาดหายไปได้ แต่ในกรณีที่การเติบโตของเศรษฐกิจไม่เป็นไปดังที่คาด ทำให้รายรับจากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลอาจไม่เพิ่มสูงขึ้นไปจากประมาณการรายรับเดิม รัฐบาลอาจต้องเลือกระหว่างเป้าหมาย 2 ด้าน กล่าวคือ แนวทางแรก รัฐบาลยังคงแผนการใช้จ่ายวงเงินงบประมาณไว้ตามเดิม ในกรณีนี้รัฐบาลจะต้องหาทางเลือกแหล่งรายได้หรือแหล่งเงินทุนรูปแบบอื่นมาทดแทน เช่น การเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีบางประเภท หรือการก่อหนี้การเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ แนวทางที่สอง รัฐบาลคงเป้าหมายงบประมาณสมดุล ในกรณีนี้รัฐบาลอาจจำเป็นต้องลดวงเงินลงทุนของโครงการบางโครงการลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ถ้าหากรัฐบาลต้องตัดลดวงเงินงบประมาณให้สอดคล้องกับรายรับที่อาจขาดหายไป 15,100 ล้านบาท อาจส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงประมาณร้อยละ 0.2
  • ผลกระทบต่อโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ในช่วงปีงบประมาณ 2549 ตามแผนงบประมาณรัฐวิสาหกิจ ประจำปี 2549 รัฐวิสาหกิจหลักที่มีแผนจะกระจายหุ้นในช่วงปี 2549 ทั้ง 5 แห่งมีงบลงทุนตามวงเงินอนุมัติเบิกจ่ายมูลค่ารวมกันประมาณ 69,400 ล้านบาท งบลงทุนดังกล่าว คาดว่าจะมีแหล่งเงินลงทุนจากรายได้รัฐวิสาหกิจ เงินกู้ รวมทั้งการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนเงินลงทุนที่มาจากกระจายหุ้นยังไม่มีความชัดเจน แต่จากการประเมินความเป็นไปได้ของผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น พบว่าถ้าหากมีการตัดลดวงเงินลงทุนของโครงการภาครัฐลงทุกๆ 10,000 ล้านบาท จะทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจลดลงร้อยละ 0.12
  • ผลกระทบทางด้านการคลัง การที่รัฐบาลอาจจะสูญเสียรายได้ที่คาดว่าจะได้รับจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ นอกจากจะส่งผลให้รัฐบาลอาจต้องปรับเปลี่ยนแผนการลงทุน หรือแผนการจัดหาแหล่งเงินทุนแล้ว รัฐบาลอาจยังต้องเผชิญกับปัญหาระดับหนี้สาธารณะที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากโครงการลงทุนจะต้องพึ่งพาการก่อหนี้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของระดับหนี้สาธารณะอาจจะเป็นจำนวนที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับเพดานที่รัฐบาลยังสามารถจะก่อหนี้เพิ่มขึ้นได้อีกอย่างน้อยประมาณ 3 แสนล้านบาทตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง (ที่กำหนดเพดานระดับหนี้สาธารณะไว้ไม่ให้เกินร้อยละ 50 ของจีดีพี) นอกจากนี้ การที่รัฐวิสาหกิจที่จะแปรรูปเหล่านั้นเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในการทำกำไรหรือมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจอยู่เป็นทุนเดิม ก็น่าจะทำให้การเข้าไปรับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลมีความเสี่ยงในระดับที่น้อยมากด้วย
  • ผลกระทบต่อแนวโน้มการลงทุนภาครัฐและสถานะการคลังในระยะปานกลาง โครงสร้างเงินทุนและทางเลือกการระดมทุนที่เปลี่ยนแปลงไป อาจมีผลต่อแผนการลงทุนของภาครัฐในระยะปานกลางถึงระยะยาวได้ โดยการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐจะถูกจำกัดภายใต้เงื่อนไขที่สำคัญคือ ผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และเป้าหมายการรักษาวินัยทางการคลัง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็คาดว่ารัฐบาลจะยังคงมีความยืดหยุ่นมากพอสำหรับการทยอยก่อหนี้เพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง โดยตราบใดที่อัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะยังคงไม่สูงเกินอัตราการขยายตัวของจีดีพีในรูปตัวเงิน (Nominal GDP) ไปมากๆ แล้ว รัฐบาลก็คงจะยังสามารถรักษาระดับหนี้สาธารณะไว้ไม่เกินร้อยละ 50 ของจีดีพีได้ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง แม้ว่ารัฐบาลจะต้องระดมเงินกู้สำหรับใช้ดำเนินการตามแผนการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ในช่วงปี 2548-2552 เป็นจำนวนรวมประมาณ 7 แสนล้านบาทด้วยก็ตาม

อย่างไรก็ตาม หากคำนึงถึงประเด็นต้นทุนทางการเงินของโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เมื่อต้องใช้ช่องทางการกู้ยืมในการจัดหาเงินลงทุน ต้นทุนทางการเงินอาจจะมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลไม่ให้การค้ำประกันเงินกู้ โครงสร้างต้นทุนที่สูงขึ้นของโครงการสาธารณูปโภคอาจส่งผลให้ผู้บริโภคต้องเข้ามารับภาระค่าบริการสาธารณูปโภคที่ต้องปรับสูงขึ้นตามไปด้วย

การที่รัฐบาลมีความพยายามที่จะให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อลดภาระทางการคลัง โดยหลักการแล้วถือว่ามีเหตุผลที่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐวิสาหกิจหลายแห่งเป็นผู้ให้บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคในวงกว้าง แผนการแปรรูปไปเป็นการดำเนินงานในลักษณะบริษัทเอกชนจึงต้องพิจารณาผลกระทบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างรอบคอบ รวมทั้งสร้างกลไกการกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่โครงสร้างตลาดมีลักษณะการผูกขาดโดยผู้ประกอบการน้อยราย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย