Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 กุมภาพันธ์ 2549

เศรษฐกิจไทย

ทิศทางเงินเฟ้อปี'49 : เพิ่มขึ้นประมาณ 4.3%-5.3%

คะแนนเฉลี่ย

จากการที่กระทรวงคมนาคมประกาศอนุมัติให้ผู้ประกอบการรถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส) ขึ้นราคาค่าโดยสารได้ทั่วประเทศในอัตรากิโลเมตรละ 3 สตางค์ ขณะเดียวกันรถเมล์ร่วมบริการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก) ที่ให้บริการในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะขึ้นราคาค่าโดยสารอีก 1 บาท ทั้งรถเมล์ไม่ปรับอากาศและรถเมล์ปรับอากาศ โดยจะเริ่มใช้อัตราค่าโดยสารใหม่ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นต้นไป

การประกาศปรับขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ทั่วประเทศครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อในปี 2549 ทั้งนี้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สำคัญมากเป็นอันดับที่สองของครัวเรือนในปัจจุบัน รองมาจากค่าใช้จ่ายเพื่ออาหารและเครื่องดื่มที่เป็นค่าใช้จ่ายสูงสุด

สำหรับในปี 2548 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงมาก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 4.5 ถือว่าเป็นอัตราการเพิ่มสูงสุดในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงมากเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของ

ต้นทุนการผลิต (Cost Push Inflation) ที่มีผลกระทบผ่าน (Pass-through Effect) มาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

ขณะเดียวกัน ผลจากการที่การส่งออกของประเทศไทยในปี 2548 ขยายตัวมาก ยังมีผลทำให้มีความต้องการใช้วัตถุดิบเพื่อการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้ราคาสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยราคาสินค้าเกษตรกรรมส่งออกมีราคาเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 10.3 ขณะที่ราคาสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าส่งออกมีส่วนในการดึงให้ราคาสินค้าและบริการภายในประเทศสูงตามไปด้วย

เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) เพิ่มขึ้นร้อยละ1.6 ในปี 2548 ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ปัญหาภาวะความแห้งแล้งที่ยาวนาน ปัญหาสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน ปัญหาไข้หวัดนก ปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและการปรับเงินเดือนของข้าราชการ การขึ้นค่าไฟฟ้า และการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดิน

สำหรับปัจจัยสำคัญที่กำหนดอัตราเงินเฟ้อในปี 2549 ก็คือราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งคาดว่าราคาน้ำมันดิบจะยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าอัตราการเพิ่มของราคาน้ำมันดิบจะไม่มากเท่ากับในปี 2548 ที่ผ่านมาก็ตาม แต่คาดว่าราคาน้ำมันจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงต่อไป เพราะความต้องการใช้น้ำมันยังมีอยู่มากในประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง เช่น ประเทศจีน และอินเดีย รวมไปถึงความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มว่าจะยังคงอยู่ในระดับที่สูง

ขณะเดียวกันในด้านอุปทานของน้ำมันดิบในตลาดโลก คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองในประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ทั้งในตะวันออกกลาง แอฟริกา และอเมริกากลาง ดังนั้นแนวโน้มของอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงเผชิญกับภาวะความผันผวนอีกต่อไป อันจะส่งผลทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวไปในทิศทางที่สูงขึ้นได้อีกในปี 2549

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ ว่าถ้าราคาน้ำมันดิบ(เบรนท์) เฉลี่ยในปี 2549 อยู่ที่ประมาณบาร์เรลละ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ของประเทศไทยในปี 2549 อยู่ที่ระดับร้อยละ 4.3 แต่ถ้าหากราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) เฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นถึงบาร์เรลละ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศไทยในปี 2549 ก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 5.3

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย