Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 กุมภาพันธ์ 2549

เศรษฐกิจไทย

วาเลนไทน์ปี'49 : เงินสะพัดทั่วกรุงเทพฯ 960 ล้านบาท

คะแนนเฉลี่ย

หลังจากเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ซึ่งเป็นเทศกาลซื้อของขวัญและเทศกาลจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเป็นประจำทุกปีได้สิ้นสุดลงแล้ว โอกาสของการซื้อของขวัญที่สำคัญอีกช่วงหนึ่งในระยะต้นปีคือ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันแห่งความรัก คาดการณ์ว่าวันวาเลนไทน์ปีนี้จะคึกคัก เนื่องจากตรงกับวันอังคาร ซึ่งเป็นช่วงหลังวันหยุดยาวติดต่อกัน 3 วัน(วันที่ 11 กุมภาพันธ์-13 กุมภาพันธ์) ดังนั้นบรรยากาศการจับจ่ายซื้อของขวัญเพื่อมอบให้กับคนรักจะคึกคักตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ไปจนถึงในช่วงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2548 หรือตั้งแต่วันเสาร์ไปจนถึงวันจันทร์ ทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของวันวาเลนไทน์คือ กลุ่มเยาวชนและกลุ่มที่เพิ่งเริ่มจะเข้าทำงานมีเวลาจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าได้มากกว่าวันทำงาน/เรียนหนังสือ นอกจากนี้ในปีนี้ยังมีปัจจัยหนุนให้เม็ดเงินในช่วงวันวาเลนไทน์มีเงินสะพัดมากขึ้น เนื่องจากเงินโบนัสและเงินแต๋ะเอียในช่วงตรุษจีนที่บรรดาบริษัทห้างร้านต่างๆจ่ายให้กับลูกค้านับว่าอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มกำลังซื้อสำหรับวันวาเลนไทน์ในปีนี้ด้วย ดังนั้นในช่วงนี้บรรดาธุรกิจต่างๆที่สามารถใช้ช่วงวาเลนไทน์เป็นโอกาสในการขายเริ่มจัดร้านต้อนรับเทศกาลวาเลนไทน์ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ "วันวาเลนไทน์ปี 2006 ในสายตาเยาวชนกรุงเทพฯ" จากกลุ่มตัวอย่าง 731 คน ในระหว่างวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ 2549 โดยในการสำรวจครั้งนี้เน้นฉพาะกลุ่มเยาวชน เนื่องจากผลการสำรวจในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มเยาวชนนี้เป็นเป้าหมายหลักของเทศกาลนี้ และกลุ่มที่เป็นกำลังซื้อหลักของเทศกาลนี้ด้วย ส่วนกลุ่มอายุอื่นๆนั้นค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลนี้ไม่แตกต่างกันมากนักในแต่ละปี คาดว่าในปี 2549 นี้จะมีเม็ดเงินสะพัดทั่วกรุงเทพฯในช่วงวันวาเลนไทน์ประมาณ 960 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาแล้วเม็ดเงินสะพัดในกรุงเทพฯ 800 ล้านบาทแล้วเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20.0 โดยคาดว่าคนกรุงเทพฯมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในช่วงวันวาเลนไทน์ที่แตกต่างกันอย่างมากทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์และกำลังซื้อของแต่ละคน อย่างไรก็ตามปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ในปีนี้เพิ่มขึ้นก็คือ วันวาเลนไทน์นับเป็นวันแรกของการมาทำงานหลังจากที่ได้หยุดติดต่อกัน 3 วัน ซึ่งทำให้บรรดาธุรกิจต่างๆมีโอกาสในการกอบโกยยอดจำหน่ายได้เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากบรรดากลุ่มเป้าหมายมีกิจกรรมเพิ่มเติม โดยเฉพาะการรับประทานอาหารนอกบ้าน ชมภาพยนตร์ ช็อปปิ้ง และเดินทางท่องเที่ยว โดยค่าใช้จ่ายในช่วงวันวาเลนไทน์จะแตกต่างกันดังนี้

ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในช่วงวันวาเลนไทน์ปี 2549
บาท/คน
กลุ่มเยาวชนระดับต่างๆ
ซื้อดอกไม้
ซื้อของขวัญ
กิจกรรมอื่นๆ
รวม
ประถม
140
70
30
240
มัธยม
180
230
250
660
อุดมศึกษา
500
670
500
1,670
วัยเริ่มทำงาน
580
800
600
1,980

ที่มา : โพลล์ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

จากการสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.8 เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในช่วงวันวาเลนไทน์ในปีนี้ เนื่องจากเป็นวันติดกับวันหยุดยาว ทำให้มีการทำกิจกรรมเพิ่มเติมมากขึ้น โดยกลุ่มตัวอย่างคาดว่าช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ปีนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกเฉลี่ยคนละ 300 บาทต่อคน ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้จะแตกต่างกันอย่างมากตามแต่กำลังซื้อของแต่ละคน โดยคาดว่ากิจกรรมที่บรรดากลุ่มเป้าหมายในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์จะใช้จ่ายเพิ่มเติมคือ การดูภาพยนตร์ รับประทานอาหารนอกบ้าน ช็อปปิ้ง และเดินทางท่องเที่ยว

สื่อบอกรักในช่วงวันวาเลนไทน์ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน แม้ว่าวิธีบอกรักยอดนิยมยังคงเป็นการไปพบและบอกรักด้วยตนเอง และการเขียนข้อความในการ์ดก็ตาม แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีวิธีบอกรักที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นได้แก่

1.โทรศัพท์มือถือ จากการสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 24.2 ระบุว่าในช่วงวาเลนไทน์จะใช้โทรศัพท์มือถือคุยกันเป็นกรณีพิเศษ และร้อยละ 14.1จะมีการส่งข้อความ/รูปภาพผ่านโทรศัพท์มือถือถึงคนพิเศษอีกด้วย คาดว่าเทศกาลวันวาเลนไทน์ปี 2549 นี้จะมีผู้ใช้บริการส่งเอสเอ็มเอสและเอ็มเอ็มเอสเพิ่มขึ้น โดยจากสถิติของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ระบุว่าในช่วงวันวาเลนไทน์ปี 2548 การส่งเอสเอ็มเอสเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และการส่งเอ็มเอ็มเอสเพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัว ซึ่งทางบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือได้เตรียมความสามารถในการรองรับการใช้บริการ และเริ่มมีการจัดโปรโมชั่นในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ด้วย เช่นบริการดาว์นโหลดข้อความและภาพฟรี เป็นต้น

2.อินเตอร์เน็ต กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.8 ระบุว่าในช่วงวาเลนไทน์จะส่งข้อความผ่านอี-เมล์หรืออี-การ์ดให้กับคนพิเศษ โดยลักษณะการใช้บริการผ่านอินเตอร์เน็ตในช่วงวันวาเลนไทน์มี 2 ประเภท คือการใช้บริการฝากข้อความผ่านอินเตอร์เนตของโทรศัพท์มือถือ และการส่งบัตรอวยพรอิเล็กทรอนิกส์(E-card) การส่งบัตรอวยพรอิเล็กทรอนิกส์นับว่าเป็นทางเลือกอีกวิธีหนึ่งในการแสดงความรักที่มีผู้นิยมใช้กันมาก ทั้งนี้การส่งบัตรอวยพรแบบนี้มีความสะดวก รวดเร็ว และมีราคาถูก ทำให้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

3.การสั่งดอกไม้ออนไลน์ เวบไซต์จำหน่ายดอกไม้ของไทยเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยยอดคำสั่งซื้อในวันวาเลนไทน์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งหากเทียบกับวันธรรมดาแล้วยอดสั่งซื้อในวันวาเลนไทน์เพิ่มขึ้น 30-40 เท่าตัว นับว่าเป็นจุดดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนทำเว็บไซต์เพื่อจำหน่ายดอกไม้กันมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีเว็บไซต์จำหน่ายดอกไม้ประมาณ 20 เว็บไซด์ โดยเวบไซต์ขายดอกไม้ต่างๆ มีจุดเด่นและรูปแบบทางธุรกิจที่หลากหลายและน่าสนใจ เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เวบไซต์ขายสินค้าประเภทนี้มีอนาคตสดใส ขณะเดียวกันก็กำลังพัฒนาให้มีสินค้าที่หลากหลายขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะสินค้าประเภทของขวัญในเทศกาลต่างๆ เช่น ตุ๊กตา เค้ก โดยจะไม่จำกัดคำสั่งซื้ออยู่เฉพาะดอกไม้เพียงอย่างเดียว

ผู้ประกอบการร้านสั่งดอกไม้ออนไลน์คาดว่ายอดการสั่งซื้อดอกไม้ออนไลน์น่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว เนื่องจากยังเชื่อว่าหัวใจหลักของวันวาเลนไทน์คือการส่งดอกกุหลาบให้กับคนที่เป็นที่รัก รวมทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ยังมีการปรับแผนการตลาดทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาในปีที่ผ่านมาที่ร้านเครือข่ายไม่สามารถรักษาคุณภาพของดอกไม้ได้เท่าเทียมกัน โดยการให้ลูกค้าสั่งซื้อโดยตรงทั้งนี้เพื่อให้ลูกค้าได้ดอกไม้ที่ได้มาตรฐาน ในคุณภาพและราคาเดียวกัน รวมทั้งมีการขยายพื้นที่การจัดเก็บดอกไม้อีกร้อยละ 30 และพัฒนาเทคโนโลยีช่วยลดการสูญเสียดอกไม้ในกรณีที่ใช้งานไม่หมดทั้งนี้เพื่อช่วยรักษาคุณภาพของดอกไม้ไว้รอคำสั่งซื้อจากผู้บริโภค

นอกจากนี้ จากหลากหลายกิจกรรมในวันวาเลนไทน์ทำให้เกิดเงินสะพัดในธุรกิจต่างๆ ดังนี้

-ร้านจัดดอกไม้และร้านขายดอกไม้ กุหลาบแดงเป็นสัญญลักษณ์ของวันวาเลนไทน์ ทำให้ในช่วงวาเลนไทน์ของทุกปีราคาดอกกุหลาบสีแดงจึงพุ่งขึ้นอย่างน่าตกใจ ส่วนร้านจัดดอกไม้มีดอกกุหลาบให้บริการแก่ลูกค้าทั้งดอกกุหลาบในประเทศและดอกกุหลาบต่างประเทศ ซึ่งดอกกุหลาบในประเทศนั้นแต่ละร้านที่มีร้านเจ้าประจำที่ตลาดปากคลองตลาด และมีแหล่งซื้อสำรอง คือ ตลาดมีนบุรี และตลาดสี่มุมเมือง เนื่องจากในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ความต้องการดอกกุหลาบมีมาก จนบางครั้งทำให้ดอกกุหลาบขาดตลาด โดยเฉพาะดอกกุหลาบสีแดง

สำหรับดอกกุหลาบที่นำเข้าปัจจุบันกุหลาบจีนเข้าแย่งตลาดกุหลาบนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ แต่ละร้านต้องสั่งล่วงหน้าประมาณ 1-2 เดือน ซึ่งยอดการสั่งดอกกุหลาบในช่วงนี้ประมาณ 5,000-10,000 ดอกต่อร้าน ในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ร้านจัดดอกไม้ทั้งรายใหญ่รายย่อยถือว่าเป็นเทศกาลรับทรัพย์เทศกาลหนึ่งทีเดียว ในปีที่ผ่านๆ มาว่ากันว่ายอดจำหน่ายของร้านดอกไม้ในช่วงเทศกาลนี้สูงถึงเป็นตัวเลขห้าหลักทีเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งของร้าน ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายหลักของเทศกาลวาเลนไทน์อยู่มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ในปีนี้มีทางเลือกใหม่สำหรับผู้ต้องการส่งดอกไม้ให้กับคนรักด้วยการสั่งดอกไม้ผ่านทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับความนิยมเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่

-ธุรกิจบัตรอวยพร ตลาดบัตรอวยพรในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์นี้แบ่งตลาดออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ตลาดระดับบนราคาตั้งแต่ 30 บาทขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันมีการนำเทคนิคที่ทันสมัยมาจูงใจผู้บริโภคมากขึ้น เช่นมีเสียงเพลง หรือเป็นการ์ดที่พับหลายตอน ส่วนตลาดอีกกลุ่มซึ่งเป็นตลาดกลุ่มที่ใหญ่มากของตลาดบัตรอวยพรในเทศกาลวันวาเลนไทน์ คือบัตรอวยพรราคาตั้งแต่ 30 บาทลงมา โดยที่ลูกค้าเป้าหมายของตลาดนี้เป็นวัยรุ่น ดังนั้นประเภทการ์ดที่ขายดิบขายดี คือ การ์ดที่เน้นมิตรภาพใสๆ หรือมีคำเก๋ หรือคำกวนที่เป็นที่นิยมของวัยรุ่นในขณะนั้น ซึ่งในเรื่องการเจาะตลาดนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ผลิตบัตรอวยพรต้องให้ความสนใจติดตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการบัตรอวยพรรายใหญ่ๆ ในประเทศไทย ต่างลงความเห็นว่ายอดจำหน่ายบัตรอวยพรสำหรับเทศกาลวันวาเลนไทน์ในปีนี้น่าจะทรงตัวพอๆ กับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากคนไทยหันไปนิยมการส่งอี-การ์ดหรือการส่งข้อความผ่านทางอี-เมล์แทน อย่างไรก็ตามบัตรอวยพรในเทศกาลวันวาเลนไทน์นั้นยังมียอดจำหน่ายที่น่าพอใจ โดยกลุ่มเป้าหมายที่ให้ความสำคัญกับเทศกาลวันวาเลนไทน์ยังนิยมซื้อบัตรอวยพรส่งไปพร้อมกับดอกไม้หรือของขวัญ

-ร้านกิ๊ฟท์ช็อป พฤติกรรมการเลือกซื้อของในร้านกิ๊ฟช็อปในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์พอจะแบ่งลูกค้าออกเป็น 2 กลุ่มคือ ลูกค้าที่ซื้อให้เพื่อน ลูกค้ากลุ่มนี้จะซื้อของจำนวนมากชิ้นราคาไม่แพงนัก และส่วนใหญ่ซื้อเป็นของกระจุกกระจิก ส่วนลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งซื้อให้คู่รักจะเลือกของที่ดูดี ราคาที่ซื้อต่อชิ้นจะสูงกว่ากลุ่มแรก อย่างไรก็ตามคู่แข่งที่มาแรงสำหรับร้านกิ๊ฟช็อปคือ ของที่ประดิษฐ์เอง ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะในกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุในช่วง 17-29 ปี โดยความนิยมให้ของที่ประดิษฐ์เองนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

-ช็อคโกแล็ตและขนม จากการสำรวจพบว่าช็อคโกแล็ตเป็นขนมหวานยอดนิยมสำหรับในช่วงวันวาเลนไทน์ ซึ่งในต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นถือว่าการให้ช็อคโกแล็ตนั้นเป็นการบอกรักอีกวิธีหนึ่งสำหรับหญิงสาว ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่นิยมให้ช็อคโกแล็ตเนื่องในวันวาเลนไทน์คือ กลุ่มเด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปีและกลุ่มวัยรุ่น อย่างไรก็ตามในปีนี้คู่แข่งที่มาแรงของช็อกโกแล็ตคือ ขนมไทย เนื่องจากกระแสรณรงค์นิยมไทย ทำให้ขนมไทยเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่จะเป็นตัวแทนความรักในช่วงวันวาเลนไทน์

นอกจากนี้บริษัทที่ผลิตเบเกอรี่ก็มีการใช้เทศกาลวาเลนไทน์ในการส่งเสริมการขาย เช่น บริษัทที่ผลิตคุกกี้ และโดนัทเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นรูปหัวใจ หรือรูปแบบของผลิตภัณฑ์เป็นรูปหัวใจ เพื่อมอบเป็นของขวัญให้กันในช่วงเทศกาลนี้ เพิ่มเมนูพิเศษ หรือจัดกิจกรรมให้กับคู่รักที่เข้ามาซื้อสินค้าในวันวาเลนไทน์ เป็นต้น

-ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า บรรดาร้านอาหารต่างๆ เตรียมตัวรับเทศกาลวันวาเลนไทน์กันอย่างคึกคัก โดยถือว่าเป็นโอกาสโกยกำไรกันอีกช่วงหนึ่ง โดยเฉพาะร้านอาหารที่มีบรรยากาศดีๆ หรือร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า เนื่องจากวันวาเลนไทน์ปีนี้ตรงกับวันอังคารหลังวันหยุดติดต่อกัน 3 วัน เท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับร้านอาหารบรรยายกาศดีๆที่จะมีการฉลองล่วงหน้าก่อนวันวาเลนไทน์ และร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้านั้นจะมีโอกาสดีเป็นพิเศษ เนื่องจากในวันนั้นบรรดาหนุ่มสาว และวัยรุ่นจะมีกิจกรรมอยู่ที่ห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะการเดินเลือกซื้อของ และดูภาพยนตร์ โดยคาดว่าบรรยกาศจะคึกคักตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์

-โรงภาพยนตร์ในห้างสรรพสินค้า จากผลการสำรวจคาดว่าในช่วงวันวาเลนไทน์คนในกรุงเทพฯที่ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์จะพาคู่รัก หรือเพื่อนที่รู้ใจไปดูภาพยนตร์ โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า ซึ่งสะดวกที่จะประกอบกิจกรรมอื่นๆ ด้วย เช่นการเลือกซื้อของ และการรับประทานอาหาร อย่างไรก็ตามในปีนี้เนื่องจากวันวาเลนไทน์ตรงกับวันจันทร์ ดังนั้นโอกาสที่จะเลือกชมภาพยนตร์มีไม่ได้หลายเรื่องหรือหลายรอบเหมือนกับในปีที่ผ่านมา คาดว่าคู่รักมักจะอุดหนุนภาพยนตร์รอบเย็นและรอบค่ำเป็นส่วนใหญ่

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย