Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 กุมภาพันธ์ 2549

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยปี 2549 ... อาจขยายตัวต่ำกว่าคาด

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2548 น่าจะบ่งชี้ถึงการชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยอาจจะขยายตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับร้อยละ 5.3 ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งการชะลอตัวดังกล่าวเป็นผลจากการชะลอตัวทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร สอดคล้องกับการชะลอตัวของภาวะอุปสงค์ในประเทศและปริมาณการส่งออก ในขณะเดียวกัน อัตราการขยายตัวร้อยละ 4.8 ในไตรมาสสุดท้ายดังกล่าว จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2548 ที่ผ่านมานี้ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.5 ลดลงจากร้อยละ 6.2 ในปี 2547 สำหรับในปี 2549 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับประมาณการเป็นร้อยละ 4.0-5.0 จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 4.5-5.0 โดยเป็นผลจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อันได้แก่ การลงทุนของภาครัฐที่อาจไม่ขยายตัวได้มากอย่างที่คาด แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อาจกระทบต่อการส่งออกของไทย ราคาน้ำมันและภาวะเงินเฟ้อในประเทศ ตลอดจนความเปราะบางของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในขณะเดียวกัน นอกจากความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยอาจจะชะลอตัวลงในปี 2549 แล้ว เศรษฐกิจไทยยังอาจเผชิญกับประเด็นทางเสถียรภาพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นปีที่สองติดต่อกัน ความเป็นไปได้ของการขาดดุลงบประมาณหากการขยายตัวของการจัดเก็บภาษีออกมาต่ำกว่าคาด รวมทั้งความผันผวนของค่าเงินบาท อันเป็นผลจากการแกว่งตัวของค่าเงินดอลลาร์ฯและเงินสกุลหลักต่าง ๆ

สำหรับในด้านการดำเนินนโยบายของทางการไทยนั้น นอกจากทางการไทยอาจจะต้องเข้าไปดูแลการเคลื่อนไหวของเงินบาท เพื่อมิให้กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศแล้ว การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลก็ยังคงมีความสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศ โดยแม้ว่ารัฐบาลอาจจะเผชิญกับการขาดดุลงบประมาณ ถ้าหากอัตราการขยายตัวของรายได้จากภาษีออกมาต่ำกว่าคาด แต่การขาดดุลดังกล่าวก็คงจะมีมูลค่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับขนาดของ GDP ของประเทศ ทำให้ผลกระทบโดยตรงในด้านเสถียรภาพน่าจะยังคงมีจำกัด ส่วนในด้านนโยบายอัตราดอกเบี้ยนั้น การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะยังคงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปอีกจนถึงช่วงกลางปีและรอดูสถานการณ์เงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังนั้น ทำให้โอกาสในการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะขึ้นอยู่กับแนวโน้มเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเป็นสำคัญ โดยหากอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง ในขณะที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจออกมาต่ำกว่าคาด ธนาคารแห่งประเทศไทยก็อาจจะพิจารณาที่จะดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลงได้



ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย