Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 กุมภาพันธ์ 2549

เศรษฐกิจไทย

แนวโน้มการลงทุนปี 2549 : ปัจจัยความเชื่อมั่นยังเป็นตัวแปรสำคัญ

คะแนนเฉลี่ย

- ในปี 2548 ภาวะการลงทุนมีทิศทางที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักเนื่องจากการชะลอตัวของการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนในด้านการก่อสร้าง จากการที่อุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์อ่อนตัวลง สำหรับการลงทุนโดยรวมของภาครัฐ มีทิศทางที่ขยายตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การลงทุนโดยรวมอาจมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 10.9 ในปี 2548 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 13.8 ในปีก่อนหน้า

- แนวโน้มการลงทุนในปี 2549 ตัวแปรสำคัญอยู่ที่การลงทุนของภาครัฐ ว่าแผนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือเมะโปรเจ็กต์ จะมีความคืบหน้าได้มากน้อยเพียงใด เพราะอาจมีความเป็นไปได้ที่โครงการลงทุนของภาครัฐจะมีความล่าช้าไปจากแผนการที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งในส่วนของโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ตามแผนการลงทุนในช่วงปี 2549 จะมีมูลค่าประมาณ 290,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความคืบหน้าจนถึงปัจจุบันได้ชี้ให้เห็นว่าโครงการลงทุนในบางสาขายังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งอาจส่งผลให้การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐในปี 2549 ไม่ปรับเพิ่มมากอย่างที่คาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินความเสี่ยงดังกล่าว (ซึ่งมีข้อสมมติให้โครงการ Mass Transit ยังไม่สามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2549 นี้ และโครงการอื่นๆ มีความคืบหน้าล่าช้า) ในกรณีเลวร้าย การลงทุนของภาครัฐอาจขยายตัวเพียงร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 22.7 ในกรณีที่การลงทุนสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้เดิม

- ในกรณีเลวร้าย ผลกระทบดังกล่าวคงจะสะท้อนไปสู่การลงทุนของภาคเอกชน ทำให้มีการชะลอการตัดสินใจลงทุนในโครงการบางส่วนด้วย แต่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่น่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี น่าจะประคับประคองให้การลงทุนของเอกชนขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 7.5 ซึ่งต่ำลงกว่าคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 10.3 ในกรณีที่การลงทุนภาครัฐสามารถเข้ามาเป็นช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนของภาคเอกชน อย่างไรก็ดี ตามคาดการณ์เดิม การลงทุนของภาคเอกชนในปี 2549 ก็มีแนวโน้มชะลอตัวจากปีก่อนหน้าอยู่แล้ว โดยแม้จะคาดว่าการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมยังมีทิศทางเติบโตได้ในเกณฑ์ดี แต่คาดว่าการลงทุนในด้านอุปกรณ์ขนส่งและภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มชะลอตัวลง

- โดยสรุป ในกรณีเลวร้าย การลงทุนโดยรวมของประเทศอาจขยายตัวเพียงร้อยละ 7.2 จากเดิมที่คาดว่าอาจขยายตัวถึงร้อยละ 13.5 ในกรณีที่โครงการต่างๆของภาครัฐสามารถดำเนินการได้ตามแผน สำหรับการลงทุนในด้านการก่อสร้าง ในกรณีเลวร้ายอาจมีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 6.2 จากเดิมที่คาดว่าอาจจะขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 15 ถ้าโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลมีความคืบหน้าได้ตามแผนการที่วางไว้ สำหรับการลงทุนในด้านเครื่องจักรอุปกรณ์ คาดว่าอาจขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 7.7-12.5 โดยมีโอกาสผันผวนน้อยกว่าภาคก่อสร้าง เนื่องจากอุตสาหกรรมต่างๆยังมีความต้องการลงทุนในระดับสูง จากการที่บริษัทต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยก็มีความต้องการขยายการลงทุนเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในสาขาไฟฟ้า พลังงาน ระบบโลจิสติกส์ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

- ธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายการลงทุนสูงในปี 2549 ในภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ด้านปิโตรเลียม พลังงาน และปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ธุรกิจผลิตภัณฑ์แปรรูปผลิตผลการเกษตร เป็นต้น ส่วนธุรกิจด้านการบริการที่คาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น นิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล ธุรกิจบริการที่สนับสนุนภาคอุตสาหกรรม (ศูนย์จัดซื้อและกระจายสินค้าภายในประเทศ และระหว่างประเทศ โลจิสติกส์ หน่วยวิจัยและพัฒนา) ธุรกิจขนส่งทางเรือและทางอากาศ

ความเสี่ยงต่อแนวโน้มการลงทุน นอกจากประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการลงทุนของภาครัฐแล้ว ปัจจัยเสี่ยงในช่วงปี 2549 ยังอาจขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมัน ทิศทางเศรษฐกิจไทย ตลอดจนทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศผู้ลงทุนรายสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐ กลุ่มประเทศยุโรปและเอเชีย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงประเด็นทางด้านการเมือง อาจจะมีผลกระทบต่อภาวะการลงทุนในระยะสั้น ในแง่มุมของจังหวะเวลาการตัดสินใจลงทุน ซึ่งนักลงทุนอาจรอดูความชัดเจนของภาวะตลาด การเปรียบเทียบภาวะต้นทุนในการลงทุน และแนวนโยบายของรัฐต่อการสนับสนุนการลงทุนในสาขาต่างๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความเข้มแข็งเป็นสิ่งที่สนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไปน่าจะยังมีความต่อเนื่อง หากสถานการณ์ต่างๆมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหากมองภาพรวมความต้องการลงทุนโดยรวมแล้ว คาดว่าจะไม่กระทบต่อแผนการลงทุนระยะยาวของนักลงทุนเอกชนทั้งธุรกิจไทยและบริษัทต่างชาติมากนัก แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ปัจจัยความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจจะไม่คงอยู่ยาวนานจนเกินไป จนส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางถึงระยะยาว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย