Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 กุมภาพันธ์ 2549

เศรษฐกิจไทย

ยุบสภาฯ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

คะแนนเฉลี่ย

แม้ว่าโดยปกติแล้ว การประกาศยุบสภาฯและการจัดการเลือกตั้งใหม่ น่าจะทำให้เกิดเม็ดเงินสะพัดจากการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกต่อภาวะการใช้จ่ายและเศรษฐกิจของประเทศ แต่จากการที่สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ยังคงมีความไม่ชัดเจน อันเป็นผลจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้าน ทำให้แนวโน้มในเชิงบวกที่น่าจะมีต่อทั้งตลาดหุ้น ค่าเงินบาท และภาวะการใช้จ่ายในประเทศในช่วงหาเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้ อาจจะไม่สดใสนัก โดยคาดว่านักลงทุนและนักค้าเงินน่าจะยังคงติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ เพื่อที่จะประเมินแนวโน้มสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของเสถียรภาพของรัฐบาล โดยน่าจะกลับมาลงทุนอย่างจริงจังเมื่อมีความชัดเจนมากขึ้นแล้วเท่านั้น

นอกจากความไม่ชัดเจนทางการเมืองดังกล่าวแล้ว ความล่าช้าของการพิจารณาโครงการเมกะโปรเจกต์ Mass Transit ของกระทรวงคมนาคม รวมทั้งความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจจะขาดรายได้จากการไม่สามารถดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจได้เลยในปี 2549 นี้ ยังอาจจะส่งผลต่อการขยายตัวของการลงทุนโดยรวมของประเทศ ซึ่งย่อมถือได้ว่าเป็นปัจจัยลบต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินนั้น คาดว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าว คงจะไม่ส่งผลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะอันใกล้นี้ รวมทั้งไม่น่าที่จะกระทบต่อการตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทยในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมีนาคมและเมษายนที่จะถึงนี้ ยกเว้นว่าจะมีเหตุการณ์ที่รุนแรงเกิดขึ้น จนธปท.พิจารณาแล้วเห็นว่าอาจจะกระทบต่อพลวัตรของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในช่วงข้างหน้าได้อย่างมีนัยสำคัญ ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ อาจจะทำให้นักลงทุนยังคงทำการปรับพอร์ทการลงทุนของตนเข้าสู่หลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่นพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งน่าจะส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ของตราสารหนี้มีค่าความลาดชัน (slope) ที่ลดลงต่อเนื่องจากในช่วงก่อนหน้า อันเป็นผลจากสถานการณ์ทางการเมืองและบรรยากาศการลงทุนที่ยังคงมีความไม่ชัดเจนนั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศดังกล่าว ยังจะส่งผลให้การดำเนินการในเรื่องของการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ของไทย โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา ต้องล่าช้าออกไปอย่างยากที่จะคาดการณ์ได้ แต่ความล่าช้าดังกล่าวน่าจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการไทย ที่จะมีเวลาศึกษา เตรียมการ และปรับตัวมากขึ้น นอกจากนี้ การเจรจา FTA กับญี่ปุ่นที่เสร็จสิ้นลงแล้ว และเตรียมจะมีการลงนามในเดือนเมษายนนี้ ก็อาจจะต้องเลื่อนออกไป โดยจะขึ้นอยู่สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าว ยังอาจทำให้เกิดความล่าช้าในการบังคับใช้กฎหมายทางการเงินหลายฉบับ เช่น พรบ. สถาบันประกันเงินฝาก และ พรบ. ธุรกิจสถาบันการเงิน ซึ่งคงจะต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะต้องเร่งสานเรื่องดังกล่าวต่อไป

ในภาพรวมแล้ว แม้ว่าความไม่ชัดเจนทางการเมืองในประเทศ น่าจะยังคงปกคลุมบรรยากาศในการลงทุนและกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงคาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2549 น่าจะสามารถขยายตัวได้ในอัตราร้อยละ 4.0-5.0 ซึ่งแม้จะชะลอตัวลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 ในปี 2548 แต่ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่น่าพอใจ เมื่อคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมในเชิงลบต่าง ๆ ที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมืองในประเทศ ราคาน้ำมัน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนความเป็นไปได้ของการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักของโลก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย