Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 พฤษภาคม 2549

เศรษฐกิจไทย

เปิดเทอมปี'49 : เงินสะพัด 45,000 ล้านบาท...ผู้ปกครองรัดเข็มขัด

คะแนนเฉลี่ย

ในช่วงเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนมิถุนายนของทุกปีบรรดาผู้ปกครองต้องวิ่งวุ่นในการหาเงินเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเปิดภาคการศึกษาใหม่ ภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมนี้นับว่าเป็นปัญหาหนักหน่วงสำหรับผู้ปกครองเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามการศึกษานั้นถือได้ว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่มั่นคงของบุตรหลาน ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อให้บุตรหลานได้มีโอกาสในการเรียนต่อ หรือมีโอกาสในการเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงหรือสถาบันการศึกษาที่ต้องการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ "ค่าใช้จ่ายเปิดเทอมปี 2549" ในช่วงระหว่าง 1-27 เมษายน 2549 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,451 คน จากผลการสำรวจคาดว่าจะมีเงินสะพัดในช่วงเปิดเทอมทั่วประเทศสูงถึง 45,000 ล้านบาท โดยการคำนวณเม็ดเงินสะพัดสำหรับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมในปี 2549 คำนวณโดยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนนักเรียน/นักศึกษาในแต่ละระดับการศึกษา และความแตกต่างของค่าใช้จ่ายที่จะแตกต่างกันอันเนื่องจากประเภทของสถานศึกษาและหลักสูตร เมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่สะพัดในช่วงเปิดเทอมปี 2548 แล้วค่าใช้จ่ายในปี 2549 ลดลงประมาณร้อยละ 10 ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บรรดาผู้ปกครองปรับตัว โดยการซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนเร็วขึ้นทำให้ได้ส่วนลดสูงถึงร้อยละ 10.0 หรือการซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนลดลงโดยซื้อตามความจำเป็น สิ่งใดที่พอจะใช้ได้ก็ใช้ไปก่อนไม่ได้ซื้อใหม่ทั้งหมด นับว่าเป็นการปรับตัวอย่างรวดเร็วในด้านค่าใช้จ่ายรับมือกับการคาดการณ์ว่าภาระค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากเคยมีประสบการณ์แล้วในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ

ค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมแยกตามระดับการศึกษา
ระดับชั้นการศึกษา
ค่าใช้จ่ายจากการสำรวจ
ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย*
อนุบาล
8,000-40,000
12,000
ประถมศึกษา
3,000-36,000
10,000
มัธยมศึกษา
6,000-35,000
15,000
ปวช./ปวส.
7,000-37,000
20,000
อุดมศึกษา
30,000-45,000
35,000

ที่มา : โพลล์บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

หมายเหตุ : *คำนวณโดยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนนักเรียน/นักศึกษาในแต่ละระดับการศึกษา และความแตกต่างของค่าใช้จ่ายที่จะแตกต่างกันอันเนื่องจากประเภทของสถานศึกษาและหลักสูตร

จากการสำรวจค่าใช้จ่ายเปิดเทอมในปี 2549 พบว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายของบรรดาผู้ปกครองนั้นแยกออกได้เป็นค่าเทอมร้อยละ 40.0 ค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนร้อยละ 30.0 ค่ากิจกรรมอื่นๆร้อยละ 18.0 และค่าอาหารร้อยละ 13.0

ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเปิดเทอมที่บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจพบในปี 2549 มีดังต่อไปนี้

1.ปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม จากการสำรวจพบว่าผู้ปกครองในกรุงเทพฯร้อยละ 27.7 ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจคาดว่าจะมีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายอย่างแน่นอน และอีกร้อยละ 21.9 ของกลุ่มตัวอย่างยังไม่แน่ใจว่าจะมีปัญหาหรือไม่ อย่างไรก็ตามในปีนี้มีผู้ปกครองถึงร้อยละ 50.0 ที่ระบุว่าไม่มีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม เนื่องจากในปีนี้บรรดาผู้ปกครองเตรียมความพร้อมเพื่อรับปัญหาค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมไว้แล้ว อันเป็นผลมาจากสัญญาณเตือนตั้งแต่ปลายปีถึงปัญหาราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเพิ่มภาระในเรื่องค่าครองชีพโดยทั่วไปอยู่แล้ว

ประเด็นที่น่าสนใจเมื่อเปรียบเทียบวิธีการแก้ปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมของบรรดาผู้ปกครองที่คาดว่าจะประสบปัญหาในช่วงเปิดเทอม ปรากฏว่าในผลการสำรวจค่าใช้จ่ายเปิดเทอมในปี 2549 นี้ บรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 35.2 หันไปพึ่งพาวิธีการกู้ยืมเงิน ทำให้การแก้ปัญหาด้วยการกู้ยืมนั้นเป็นอันดับหนึ่งของวิธีการแก้ปัญหาของบรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง วิธีการแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมอันดับรองลงมาคือ การถอนเงินสะสม การเปียร์แชร์ การพึ่งพาโรงรับจำนำ และการเลือกทำงานพิเศษ ส่วนอัตราดอกเบี้ยของการพึ่งพาการกู้ยืมนั้นจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแหล่งของการกู้ยืม จากการสำรวจพบว่าโดยเฉลี่ยบรรดาผู้ปกครองต้องเสียดอกเบี้ยเฉลี่ยเกือบร้อยละ 15 ต่อเดือน

สำหรับการกู้ยืมเงินนั้นแหล่งกู้ยืมของบรรดาผู้ปกครองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมนั้นแยกออกได้เป็นการกู้ยืมเงินนอกระบบร้อยละ 77.1 ของการพึ่งพาการกู้ยืมเงินทั้งหมด และในระบบร้อยละ 22.9 อย่างไรก็ตามแหล่งกู้ยืมนอกระบบนั้นส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมเงินจากบรรดาญาติ/คนรู้จักถึงร้อยละ 55.0ซึ่งการกู้ยืมเงินจากแหล่งนี้บางครั้งไม่ต้องเสียดอกเบี้ยหรือถ้าเสียก็จะอยู่ในอัตราค่อนข้างต่ำ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 22.1 นั้นพึ่งพิงการกู้ยืมเงินจากนายทุนเงินกู้ ซึ่งการกู้ยืมเงินจากแหล่งนี้มักจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนั้นอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง

ประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องทางเลือกของบรรดาผู้ปกครองที่ประสบปัญหาค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม มีดังนี้

-การขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการศึกษาของภาคเอกชน จากการสำรวจในปีนี้พบว่าแหล่งสินเชื่อเพื่อการศึกษาที่บรรดาผู้ปกครองใช้บริการในปีการศึกษา 2549 คือ เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของรัฐบาล ธนาคารออมสิน ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินอื่นๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าบรรดาผู้ปกครองยังคงหันไปพึ่งพาแหล่งสินเชื่อเพื่อการศึกษาจากรัฐบาลและธนาคารของรัฐเป็นอันดับแรกก่อนที่จะพึ่งพิงสินเชื่อเพื่อการศึกษาของภาคเอกชน แต่ด้วยข้อจำกัดของการให้สินเชื่อของรัฐบาลและธนาคารของรัฐ โดยบรรดาผู้ปกครองระบุว่าโอกาสได้สินเชื่อเพื่อการศึกษาจากทั้งสองแหล่งนี้ค่อนข้างน้อย ทำให้สินเชื่อเพื่อการศึกษาของภาคเอกชนสามารถเข้ามาตอบสนองความต้องการในส่วนนี้ได้

-โรงรับจำนำที่พึ่งยามยากของคนจน แม้ว่าธุรกิจสินเชื่อเงินผ่อนของเอกชนจะเริ่มรุกมาให้สินเชื่อด้านการศึกษามากขึ้น แต่โรงรับจำนำก็ยังคงเป็นธนาคารคนยาก หรือที่พึ่งพิงของผู้ปกครองบางกลุ่ม กล่าวคือในช่วงที่ผ่านมาบรรดาผู้ปกครองที่มีปัญหาในช่วงเปิดเทอมจะเลือกโรงรับจำนำเป็นแหล่งพึ่งพิง 1 ใน 5 อันดับแรก แม้ว่าในปัจจุบันสถาบันการเงินจะหันมาปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมมากยิ่งขึ้น ทั้งการเข้ามารุกตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อเงินผ่อนที่ตั้งเคาน์เตอร์ปล่อยสินเชื่อในห้างสรรพสินค้า แต่ผู้ปกครองบางกลุ่มยังคงเลือกที่จะใช้บริการโรงรับจำนำ เนื่องจากการกู้เงินจากสินเชื่อเพื่อการศึกษานั้นยังมีความยุ่งยากในเรื่องเงื่อนไขในการขอกู้ โดยเฉพาะหลักฐานในเรื่องใบรับรองเงินเดือน และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่า รวมทั้งผู้ปกครองกลุ่มนี้เคยใช้บริการโรงรับจำนำมาก่อน และมีสินทรัพย์ที่โรงรับจำนำยอมรับจำนำ ดังนั้นโรงรับจำนำจึงยังเป็นแหล่งพึ่งพิงสำคัญของผู้ปกครองกลุ่มนี้

ปัญหาที่มีการกล่าวถึงเสมอมาในช่วงเปิดเทอมคือ การเรียกร้องเงินแป๊ะเจี๊ย หรือที่มีการเรียกเป็นเงินค่าบำรุงโรงเรียน เงินสมทบเพื่อก่อสร้างตึก ฯลฯ แต่ถ้าจะมาพิจารณาถึงที่มาของปัญหานี้แล้ว สาเหตุที่แท้จริงน่าจะมาจากบรรดาผู้ปกครองเองที่ต้องการเลือกสถานศึกษาให้บุตรหลาน โดยจากการสำรวจของ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด พบว่าถ้าบุตรหลานของบรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างไม่สามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาที่ต้องการได้ บรรดาผู้ปกครองถึงร้อยละ 57.3 ของกลุ่มตัวอย่างจะเลือกวิธีการวิ่งเต้นเพื่อที่จะให้บุตรหลานได้เข้าเรียนในสถานศึกษาที่ต้องการ (ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 48.7 จะเลือกวิธีอื่นๆ ได้แก่ เปลี่ยนสถานศึกษาร้อยละ 39.2 รอสอบใหม่ร้อยละ 1.8 และรอฝากเข้าช่วงเทอม 2 ร้อยละ 1.8) โดยวิธีการวิ่งเต้นนั้นมี 2 ทางเลือกคือ ร้อยละ 61.6 เลือกการฝากเข้าและอีกร้อยละ 38.4 เลือกการจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ย ซึ่งจำนวนเงินแป๊ะเจี๊ยะที่บรรดาผู้ปกครองยินดีจ่ายนั้นจะแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งนี้ขึ้นกับชื่อเสียงของสถาบันการศึกษาแต่ละแห่ง และระดับชั้นของการศึกษา นอกจากนี้จำนวนเงินแป๊ะเจี๊ยสูงสุดที่ผู้ปกครองยินดีจ่ายนั้นก็แตกต่างกัน

เงินแป๊ะเจี๊ยะเฉลี่ยที่ผู้ปกครองยินดีจ่าย
บาท/คน
อนุบาล
ประถม
มัธยม
รัฐบาล
15,000
10,000
35,000
เอกชน
40,000
15,000
20,000
สาธิต
30,000
20,000
30,000
โรงเรียนฝรั่ง
30,000
20,000
หลักสูตรภาษาอังกฤษ
30,000
20,000

ที่มา : โพลล์บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

หมายเหตุ : จำนวนเงินแป๊ะเจี๊ยะที่ผู้ปกครองยินดีจ่ายจะแตกต่างกันอย่างมาก

นอกจากนี้การสำรวจและในการสัมภาษณ์บรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างระบุปัญหาที่น่าหนักใจในเรื่องเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม แม้ว่าไม่ต้องมีภาระในเรื่องค่าเทอมสำหรับช่วงการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เนื่องจากทางรัฐบาลให้การอุดหนุนการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี แต่สถานศึกษามีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสมทบของสถานศึกษา กล่าวคือบรรดาสถานศึกษาต่างๆมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครองหลายครั้งแทนที่จะรวมเป็นยอดเดียว และจัดเก็บเฉพาะค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าเรียนคอมพิวเตอร์ ค่าไฟฟ้าสำหรับการเรียนในห้องปรับอากาศ ชุดเชียร์ลีดเดอร์ ค่าเรียนภาษา กิจกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิต ค่าประกันอุบัติเหตุ ค่าใช้จ่ายเข้าค่ายสำหรับนักเรียนใหม่ ฯลฯ ซึ่งจากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในปี 2548 พบว่าสถานศึกษาบางแห่งมีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายสมทบเฉลี่ยเกือบ 2,000 บาทต่อคน ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้นับว่าเป็นภาระอย่างมากสำหรับผู้ปกครอง นอกจากนี้บรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างยังระบุว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่สามารถนำไปเบิกกับต้นสังกัดได้ โดยเฉพาะผู้ปกครองที่เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากไม่ได้ระบุว่าเป็นค่าเทอม

สำหรับการทำตลาดของผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเทอมนี้ต้องมีการปรับกลยุทธ์กันอย่างขนานใหญ่ เนื่องจากภาวะราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการคาดการณ์กันว่ากำลังซื้อของบรรดาผู้ปกครองจะลดลง และผู้ปกครองจะต้องหาทางรัดเข็มขัดกันทุกวิถีทาง นอกจากนี้ในช่วงเปิดเทอมนั้นนับเป็นช่วงสำคัญที่บรรดาผู้ประกอบธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเทอมจะกอบโกยรายได้ในแต่ละปี ดังนั้นบรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเทอมนั้นการเริ่มกระตุ้นตลาดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน อย่างไรก็ตามในปัจจุบันผู้ปกครองส่วนใหญ่เน้นการประหยัด จากเดิมที่ในช่วงเปิดเทอมใหม่แต่ละครั้งบรรดาผู้ปกครองจะซื้อเครื่องแบบนักเรียน รองเท้า และอุปกรณ์การเรียนต่างๆใหม่ทั้งหมดให้กับบุตรหลาน แต่ปัจจุบันผู้ปกครองเน้นการใช้ของเดิมไปก่อน ถ้าไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่จากการที่ต้องเปลี่ยนสถานศึกษา ดังนั้นการรักษายอดจำหน่ายให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมานับว่าเป็นโจทย์ข้อใหญ่ของบรรดาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเปิดเทอม นอกจากปัญหาที่บรรดาผู้ปกครองเน้นนโยบายประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงและดุเดือดในระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเองทั้งนี้เพื่อรักษายอดจำหน่ายไว้ โดยมีการส่งเสริมการขายทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการหันไปร่วมมือจัดการส่งเสริมการขายร่วมกับห้างสรรพสินค้า และช่องทางโมเดิร์นเทรดทั้งหลาย โดยเฉพาะร้านดิสเคาต์นสโตร์ ซึ่งเป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอยยอดนิยมในปัจจุบัน เน้นการโฆษณาทางโทรทัศน์และสื่อต่างๆมากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับในปี 2548 รวมทั้งยังมีการหาช่องทางการจำหน่ายใหม่ๆ โดยเฉพาะการเข้าไปประมูลจำหน่ายสินค้าโดยตรงกับทางสถาบันการศึกษา กิจกรรมต่างๆนั้นเริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน ซึ่งนับว่าเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย