Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 สิงหาคม 2549

เศรษฐกิจไทย

ฐานะการคลังล่าสุด ... การจัดเก็บภาษียังคงต่ำกว่าเป้า (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1844)

คะแนนเฉลี่ย

ตัวเลขการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2549 บ่งชี้ว่ารัฐบาลยังคงจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าติดต่อกันจากในเดือนก่อน ๆ หน้า โดยในเดือนกรกฎาคมดังกล่าว รายได้ภาษีจาก 3 กรมหลัก คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร มีมูลค่ารวมเท่ากับ 96.9 พันล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้อยู่ 6.7 พันล้านบาท หรือร้อยละ 6.5 โดยนอกจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่ได้ต่ำกว่าเป้า (โดยเฉพาะจากภาษีน้ำมันฯ) แล้ว ในเดือนกรกฎาคมนี้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลก็ยังออกมาต่ำกว่าเป้าด้วยเช่นกัน

นอกจากรายได้ภาษีที่ยังคงต่ำกว่าเป้าแล้ว แนวโน้มฐานะการคลังของรัฐบาลยังอาจถูกกระทบจากปัจจัยหรือเหตุการณ์หลายอย่าง เช่น ความเป็นไปได้ที่กระทรวงการคลังอาจจะต้องมีภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นจากการเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้สินของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง รวมทั้งอาจจะต้องมีภาระดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินเพื่อเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนในสถาบันการเงิน ในขณะที่ก็มีความเป็นไปได้ที่ในปีหน้า รัฐบาลชุดใหม่อาจจะออกมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การปรับลดภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ในขณะเดียวกัน ก็อาจจะมีการพิจารณาปรับลดวงเงินงบประมาณรายจ่ายสำหรับปีงบประมาณ 2550 ลง อันเป็นผลเนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีหน้า ที่อาจจะต่ำกว่าประมาณการเดิมของทางการ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย และความจำเป็นของรัฐบาลในการที่จะต้องเข้าไปดำเนินการในด้านต่าง ๆ ดังกล่าว คงจะทำให้รัฐบาลไทยต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้น โดยอาจจะเผชิญกับการขาดดุลเงินสดทั้งในปีงบประมาณ 2549 และ 2550 อย่างไรก็ตาม คาดว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลไทยน่าจะยังคงอยู่ภายในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง (Sustainability Framework) คือ ยอดหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 50 และภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกินร้อยละ 15 ทั้งนี้ หากพิจารณาจากยอดหนี้สาธารณะคงค้างล่าสุด ที่ร้อยละ 41.7 ของ GDP ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2549 พอจะประเมินได้ว่ารัฐบาลไทยน่าจะยังมีความยืดหยุ่นที่จะก่อหนี้เพิ่มขึ้นได้อีกถึง 6 แสนล้านบาทในปี 2549 และอีก 3 แสนล้านบาทในปี 2550 ซึ่งในทางปฎิบัติแล้ว คาดว่า หนี้สาธารณะคงจะไม่เพิ่มขึ้นถึงเพดานดังกล่าว ทำให้โดยรวมแล้วอาจจะสรุปได้ว่า แนวโน้มการขาดดุลเงินสดของรัฐบาลไทยดังกล่าว คงจะมีผลไม่มากนักต่อเสถียรภาพของตลาดเงินและเศรษฐกิจของประเทศ ยกเว้นว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรง เช่น เรื่องของราคาน้ำมัน หรือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ จนทำให้สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ แปรเปลี่ยนไปในทิศทางที่เลวร้ายลงมากและยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ซึ่งทำให้ในที่สุดแล้ว ความไม่ประมาทและการดำรงรักษาวินัยทางการคลัง น่าจะเป็นกรอบนโยบายที่ยังคงมีความเหมาะสมในยามนี้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย