Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 กันยายน 2549

เศรษฐกิจไทย

ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุด ... ราคาสินค้าส่งออกที่ดีขึ้นช่วยชดเชยการชะลอตัวทางด้านปริมาณ (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1854)

คะแนนเฉลี่ย
โดยสรุปแล้ว ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทยสำหรับเดือนกรกฎาคม 2549 บ่งชี้ว่าการปรับเพิ่มของราคาสินค้าส่งออกเป็นปัจจัยหลัก ที่ช่วยหนุนให้ตัวเลขการขยายตัวของการส่งออกโดยรวมเพิ่มขึ้นได้ แม้ว่าปริมาณการส่งออกจะเริ่มชะลอตัวลงก็ตามอนึ่ง แม้ว่าอัตราการขยายตัว (Year-on-Year) ของการนำเข้าและการบริโภคของภาคเอกชน จะสูงขึ้นในเดือนกรกฎาคม แต่ส่วนใหญ่เป็นผลจากฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่แท้จริงแล้ว ระดับของการนำเข้าได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากในเดือนมิถุนายน ส่วนระดับการบริโภคกลับปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า สำหรับแนวโน้มในเดือนสิงหาคม 2549 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า บรรยากาศการลงทุนและการบริโภคโดยรวม น่าจะยังคงถูกกดดันจากภาวะความเชื่อมั่นของภาคเอกชน แม้ว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยจะได้ปรับตัวลดลงในเดือนดังกล่าวก็ตามในขณะเดียวกัน การส่งออกอาจจะชะลอตัวลงเนื่องจากการเทียบกับฐานที่สูงในเดือนสิงหาคมปีก่อนหน้า
ส่วนแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2549-2550 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการขยายตัวของ GDP ในไตรมาสที่ 2 ปี 2549 จะชะลอตัวลงเป็นร้อยละ 5.0 จากร้อยละ 6.0 ในไตรมาสแรก และจะยังคงชะลอตัวเป็นร้อยละ 3.0-3.5 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 5.5 ในช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของทั้งปี 2549 อยู่ที่ร้อยละ 4.0-4.5 สำหรับแนวโน้มในปี 2550 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไว้ที่ร้อยละ 3.5-4.5 โดยปัจจัยหลักยังคงเป็นเรื่องของความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งจะมีผลต่อการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล รวมทั้งเรื่องของแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักของโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งย่อมจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยในปีหน้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลงในปี 2550 เนื่องจากการเปรียบเทียบกับฐาน (Base Effect) เป็นสำคัญ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI Inflation) อาจจะมีค่าเฉลี่ยในปี 2550 ที่ร้อยละ 3.3-3.8 จากร้อยละ 5.0 ในปี 2549 นี้ โดยแนวโน้มการอ่อนตัวของภาวะเงินเฟ้อดังกล่าว ประกอบกับความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯหรือเฟด อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงหลังจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย อาจจะมีความหยืดหยุ่นมากขึ้นในการพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทยในปี 2550 โดยอาจจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามเฟด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากเศรษฐกิจไทยประสบกับการชะลอตัวมากกว่าที่เดิมเคยประเมินไว้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย