Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 ธันวาคม 2549

เศรษฐกิจไทย

การลงทุนจากต่างประเทศของ SMEs ญี่ปุ่นในไทย : ความสำคัญและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1935)

คะแนนเฉลี่ย
ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ลงทุนรายสำคัญอันดับหนึ่งในประเทศไทย จากอดีตจนถึงปัจจุบันการลงทุนโดยตรงสุทธิ (Net Flows of FDI) มีมูลค่าการลงทุนสะสมทั้งสิ้น 21,824 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 36 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมดในประเทศไทย ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ราว 6000 บริษัท ในจำนวนนี้มีประมาณ 3000 บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต และมีการประเมินว่าบริษัทขนาดกลางและเล็ก (Small and Medium Enterprises: SMEs) ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตสินค้าและ/หรือบริการขั้นกลางในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องจักร ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (เช่นชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ท่อไอเสียจักรยานยนต์ สารออกฤทธิ์สำคัญของยา แม่พิมพ์ขึ้นรูปพลาสติก การชุบเคลือบผิวด้วยโลหะ ตู้พ่นสี เป็นต้น) มีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ของจำนวนบริษัทญี่ปุ่นในภาคการผลิตทั้งหมด (ประมาณ 2000 บริษัท) และมีแนวโน้มว่าจะมีบริษัทขนาดกลางและเล็กจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุสำคัญที่ SMEs ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะช่วงหลังจากปี 2543 นั้นเริ่มจากความจำเป็นที่จะต้องย้ายฐานการผลิตตามบริษัทใหญ่ที่เป็นคู่ค้าของตนเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ เมื่อบริษัทขนาดใหญ่โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขยายกำลังการผลิตในประเทศไทยโดยมีเป้าหมายเพื่อการส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ความต้องการสินค้าขั้นกลางที่มีคุณภาพมาตรฐานก็ย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
การเข้ามาลงทุนของ SMEs ญี่ปุ่นนั้นก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยในหลายด้าน ประการแรก การเข้ามาตั้งฐานการผลิตของ SMEs ญี่ปุ่นส่งผลโดยตรงต่อการจ้างงานรวมถึงการส่งออกของธุรกิจ SMEs ญี่ปุ่นเหล่านี้ ประการที่สอง การเข้ามาลงทุนของ SMEs ญี่ปุ่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นซัพพลายเออร์ที่ป้อนสินค้าให้กับเครือข่ายการผลิตของบริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่ ทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและส่วนประกอบที่สนับสนุนการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมหลัก ความพร้อมของเครือข่ายอุตสาหกรรมสนับสนุนนี้จะดึงดูดให้มีการขยายการลงทุนในประเทศไทยจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในสายอุตสาหกรรมสำคัญได้แก่ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการขยายตัวของการลงทุนอุตสาหกรรมเหล่านี้ย่อมส่งผลดีต่อการจ้างงานและการส่งออกโดยรวมของไทยในอนาคต อย่างไรก็ตามอาจมีข้อกังวลว่าการเข้ามาของเครือข่ายการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นในระดับ SMEs นี้จะเป็นการปิดกั้นโอกาสสำหรับ SMEs ไทยในการเข้าไปมีส่วนร่วมในเครือข่ายธุรกิจของผู้ผลิตญี่ปุ่นรายใหญ่ ในข้อนี้ยังต้องยอมรับว่าบริษัทขนาดกลางและเล็กของญี่ปุ่นนั้นมีจุดแข็งทางเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการของผู้ผลิตขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น และชิ้นส่วนหลายประเภทยังไม่สามารถผลิตได้เองโดยผู้ประกอบการไทย ถ้า SMEs ของไทยจะแข่งขันกับ SMEs ญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งบริษัทในไทยในการทำการค้ากับบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นในประเทศไทย การยกระดับเทคโนโลยีการผลิตให้เป็นที่ยอมรับผ่านการยอมรับผ่านการสร้างสายสัมพันธ์ทางการค้าและการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่จำเป็นอันดับแรก ซึ่งองค์กรภาครัฐจะต้องมีส่วนช่วยในการสนับสนุน
สำหรับนักลงทุนญี่ปุ่นนั้น ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมการลงทุนในประเทศไทยที่สำคัญมีสามประการได้แก่ปัญหาเกี่ยวกับความล่าช้าหรือความไม่โปร่งใสในขั้นตอนต่างๆ ในการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐ การขาดแคลนแรงงานช่างเทคนิค และอุตสาหกรรมสนับสนุนของไทยยังไม่เป็นที่เชื่อถือของบริษัทญี่ปุ่นในไทยมากนักเนื่องจากปัญหาเรื่องความสม่ำเสมอของคุณภาพสินค้าและความตรงต่อเวลาในการส่งมอบสินค้า อย่างไรก็ดีประเทศไทยยังเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ที่ SMEs ญี่ปุ่นสนใจเข้ามาลงทุน ผลการสำรวจโดยธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (เจบิก) ประจำปี 2549 ชี้ว่าจำนวนบริษัทขนาดกลางและเล็กของที่ญี่ปุ่นที่คาดหวังจะมาลงทุนในประเทศไทยในช่วงสามปีจากนี้ไปนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 46 บริษัทจาก 38 บริษัท เทียบกับผลการสำรวจของปีที่ผ่านมา ซึ่งชี้ให้เห็นว่าความคาดหวังของบริษัทญี่ปุ่นที่ต่อประเทศไทยในฐานะแหล่งลงทุนยังเป็นไปในทางที่ดีอยู่

แนวทางที่ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของไทยควรดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้ SMEs ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอาจสรุปได้เป็นสามข้อ ได้แก่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการสร้างสายสัมพันธ์ทางธุรกิจทั้งระหว่างบริษัทญี่ปุ่นในไทยด้วยกันและกับบริษัทของคนไทยเพื่อประโยชน์ทั้งในการค้าและการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล การแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมในการลงทุน โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือช่างเทคนิค การอำนวยความสะดวกในทุกๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ เช่นการอำนวยความสะดวกในเรื่องเงินกู้เพื่อการประกอบหรือขยายธุรกิจ การปรับปรุงขั้นตอนการติดต่อกับหน่วยงานรัฐที่ลดความซ้ำซ้อนลง อย่างไรก็ดีการสนับสนุนให้ SMEs ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยจะได้รับจากการที่ SMEs ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนมากขึ้นด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย