Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 กุมภาพันธ์ 2550

เศรษฐกิจไทย

ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่นที่ลดลงต่อเนื่อง : ผลต่อทิศทางการลงทุนในระยะข้างหน้า (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1935)

คะแนนเฉลี่ย
ญี่ปุ่นนับเป็นประเทศผู้ลงทุนรายสำคัญที่สุดในประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เข้ามายังประเทศไทยทั้งหมด ในระยะหลายปีที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศที่นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้ามาลงทุนมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย แม้แต่ในช่วงปี 2549 ที่สถานการณ์ภายในประเทศเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง แต่ถ้าเปรียบเทียบภายในกลุ่มประเทศเอเชียด้วยกัน พบว่าการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยมีมูลค่าสูงเป็นอันดับสอง รองจากประเทศจีน โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบันของญี่ปุ่น (FY 2549) หรือ ระหว่างเดือนเมษายนถึงกันยายน 2549 ญี่ปุ่นมีการลงทุนในประเทศไทยมูลค่า 1,156 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียที่ร้อยละ 6
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเงินลงทุนที่เข้ามา ณ ปัจจุบันนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เคยมีต่อประเทศไทยในระยะก่อนหน้า สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ณ ขณะนี้คือ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่นถดถอยลงไปอย่างมาก ในปัจจุบัน ปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศหลายประการดำเนินไปในทิศทางเชิงลบ ทำให้ความน่าดึงดูดของไทยลดน้อยลงในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ ปัจจัยต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทย ได้สะท้อนผ่านมุมมองของนักลงทุนดังที่เห็นได้จากการผลสำรวจหลายชิ้น ประกอบด้วย
- การสำรวจความเชื่อมั่นของบริษัทญี่ปุ่นในเอเชีย โดยองค์กรการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JETRO (Japan External Trade Organization) พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย (Diffusion Index) ในเดือนมกราคม 2550 อยู่ที่ระดับ -12.9 อยู่ในแดนลบต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549 และรั้งอันดับต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3
- การสำรวจของ JETRO ถึงแผนการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยพบว่า บริษัทญี่ปุ่นมีแผนการลงทุนขยายธุรกิจในประเทศไทยในปี 2550 ลดลงจากปี 2549 ถึงร้อยละ 26.5
- การสำรวจของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JBIC (Japan Bank of International Cooperation) ประจำปี 2549 สอบถามความคิดเห็นของบริษัทข้ามชาติญี่ปุ่นถึงมุมมองต่อประเทศที่สนใจเข้าไปลงทุนในระยะ 3 ปีข้างหน้า พบว่าความสนใจของบริษัทญี่ปุ่นในการเข้ามาลงทุนที่ประเทศไทยลดลงมาเป็นอันดับที่ 4 จากที่เคยอยู่ในอันดับ 3 และอันดับ 2 ในการสำรวจเมื่อปี 2548 และ 2547 ตามลำดับ โดยประเทศที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้าไปลงทุนมากที่สุดยังคงเป็นจีน รองลงมาคืออินเดีย และเวียดนามแซงหน้าไทยขึ้นมาเป็นอันดับ 3
ความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่นต่อประเทศไทยที่ถดถอยลง ในขณะที่มุมมองของนักลงทุนญี่ปุ่นกลับให้ความสนใจต่อการไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น นับได้ว่าเป็นสัญญาณที่ภาครัฐไม่อาจมองข้ามได้ และควรเร่งหามาตรการแก้ไขตลอดจนปรับแนวนโยบายการลงทุนเพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนการลงทุนในไทยอ่อนแอลง เนื่องจากบรรยากาศการลงทุนของไทยถูกกระทบจากเหตุการณ์ภายในประเทศหลายด้าน ที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาทางการเมือง เหตุการณ์วินาศกรรม ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทมาตรการสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีผลทำให้ธุรกิจต่างชาติในไทยมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการทางการเงินลดลง และร่างแก้ไขพรบ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งแม้ว่าอาจไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการต่างชาติที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยอยู่แล้วในวงกว้าง แต่อาจกระทบต่อแนวโน้มการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า
ปัจจัยต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทย ที่สะท้อนผ่านมุมมองของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายสำคัญที่สุดของไทย อาจเป็นสัญญาณที่รัฐบาลไม่อาจมองข้าม และควรเร่งหามาตรการแก้ไข ตลอดจนหันมาทบทวนปรับแนวนโยบายการลงทุนเพื่อรักษาสถานะการแข่งขันของไทยในด้านการลงทุนภายในภูมิภาค

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย