Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 กุมภาพันธ์ 2550

เศรษฐกิจไทย

เทศกาลตรุษจีนปีกุน : คนกรุงฯใช้จ่าย...เม็ดเงินสะพัด 15,600 ล้านบาท (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1949)

คะแนนเฉลี่ย
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายและการร่วมกิจกรรมในเทศกาลตรุษจีนของคนกรุงเทพฯที่มีเชื้อสายจีน ในลักษณะการสำรวจเชิงคุณภาพระหว่างวันที่ 2-12 กุมภาพันธ์ 2550 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 608 คนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ในทุกสาขาอาชีพหลัก และทุกระดับรายได้ ผลการสำรวจสะท้อนถึงแนวโน้มของการร่วมกิจกรรมสำคัญๆในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ และกระแสการสะพัดของเม็ดเงินที่ใช้จ่ายในด้านต่างๆช่วงเทศกาลตรุษจีนไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- ตลาดสินค้าเครื่องเซ่นไหว้..ทรงตัว : เม็ดเงินสะพัดในกทม. 4,400 ล้านบาท
ผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าเครื่องเซ่นไหว้ส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 62.9 เห็นว่าการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกไม่ส่งผลกระทบต่อการซื้อเครื่องเซ่นไหว้ในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ ทำให้ไก่ยังคงครองความนิยมอันดับ 1 ในการเลือกซื้อเครื่องเซ่นไหว้ตรุษจีนปีนี้ รองลงมา คือ เนื้อหมูและเป็ด ผลไม้ ขนม และกระดาษเงินกระดาษทองรวมทั้งธูปและเทียน โดยร้านค้าในตลาดสดใกล้บ้านยังครองความนิยมในการเลือกซื้อเครื่องเซ่นไหว้ตรุษจีน รองลงมา คือ ร้านค้าย่านตลาดเก่าเยาวราช และร้านค้าปลีกรูปแบบทันสมัย คือ ซุปเปอร์มาร์เก็ตและซูปเปอร์สโตร์
งบประมาณโดยเฉลี่ยในการซื้อเครื่องเซ่นไหว้ช่วงตรุษจีนปีนี้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องเซ่นไหว้มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 4,400 ล้านบาทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่แล้วที่มีมูลค่าประมาณ 4,300 ล้านบาท
- บุตรหลานและญาติผู้ใหญ่...รับอั่งเปาเพิ่มขึ้น : เม็ดเงินสะพัด 6,400 ล้านบาท
จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 53.9 แจกอั่งเปาในเทศกาลตรุษจีนซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยร้อยละ 90.4 แจกอั่งเปาเป็นเงินสด ผู้รับอั่งเปาในช่วงเทศกาลตรุษจีนกว่าร้อยละ 60 เป็นบุตรหลานที่ยังไม่ทำงาน รองลงมา คือ ญาติผู้ใหญ่ และลูกจ้างหรือพนักงาน ตามลำดับ
งบประมาณโดยเฉลี่ยในการแจกอั่งเปาปีนี้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่จากสัดส่วนของผู้แจกอั่งเปาที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้โดยรวมแล้วคาดว่าการแจกอั่งเปาจะมีมูลค่ารวมกันประมาณ 6,400 ล้านบาท
- กิจกรรมในกทม.ช่วงเทศกาลตรุษจีน : สร้างเม็ดเงินสะพัด 2,200 ล้านบาท
จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 85.9 เลือกพำนักอยู่ในกรุงเทพฯซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วและมีกิจกรรมนอกบ้านเพิ่มขึ้น ได้แก่ การทำบุญไหว้พระตามวัดหรือศาลเจ้าที่นับถือรวมทั้งมงคลสถานต่างๆในกรุงเทพฯ รองลงมาเป็นการรับประทานอาหารนอกบ้าน การเดินซื้อของตามห้างสรรพสินค้า และการชมภาพยนตร์ เป็นต้น
งบประมาณโดยเฉลี่ยสำหรับกิจกรรมนอกบ้านช่วงตรุษจีนปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อย ส่งผลให้โดยรวมแล้วคาดว่าจะมีเม็ดเงินคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,200 ล้านบาทสะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภัตตาคาร ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ และสวนสนุก เป็นต้น
- คนกรุงฯเที่ยวในประเทศ : เม็ดเงินสะพัด 1,800 ล้านบาท
จากการสำรวจพบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 14.1 วางแผนจะเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงตรุษจีนซึ่งลดลงกว่าปีที่แล้ว แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในช่วงตรุษจีนปีนี้ส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวชายทะเล (อาทิ พัทยา บางแสน ชะอำ และหัวหิน) แหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ในภาคกลาง (อาทิ นครปฐม สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และฉะเชิงเทรา) และแหล่งท่องเที่ยวซึ่งมีการจัดงานฉลองเทศกาลตรุษจีนอย่างยิ่งใหญ่ อาทิ เชียงใหม่ ภูเก็ต นครสวรรค์ หาดใหญ่ และอุดรธานี
งบประมาณค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการไปเที่ยวต่างจังหวัดช่วงตรุษจีนสูงกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย แต่จากสัดส่วนการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดที่ลดลง ส่งผลให้โดยรวมแล้วการใช้จ่ายเพื่อเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดลดลงจากปีที่แล้ว โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1,800 ล้านบาท
- ทัวร์นอกช่วงตรุษจีน..ไม่คึกคัก : เงินตรารั่วไหลออกนอกประเทศ 800 ล้านบาท
การเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ไม่คึกคักเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต่างหลีกเลี่ยงการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสำคัญ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศของคนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนมีแนวโน้มลดลง โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 800 ล้านบาท
โดยรวมแล้วคนกรุงเทพฯเชื้อสายจีนใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 15,600 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากปีที่แล้วที่มีมูลค่า 14,700 ล้านบาท เม็ดเงินที่สะพัดในช่วงตรุษจีนปีนี้ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องเซ่นไหว้ประมาณ 4,400 ล้านบาท การแจกอั่งเปาประมาณ 6,400 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในกิจกรรมนอกบ้านช่วงเทศกาลตรุษจีนประมาณ 2,200 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศประมาณ 1,800 ล้านบาท และการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศประมาณ 800 ล้านบาท

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย