Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 เมษายน 2550

เศรษฐกิจไทย

สงกรานต์ปีกุน : คนกรุงฯใช้จ่าย...เม็ดเงินสะพัด 2.2 หมื่นล้านบาท (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1964)

คะแนนเฉลี่ย
เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน 2550 ซึ่งมีวันหยุดราชการติดต่อกัน 5 วัน คือ ตั้งแต่วันที่ 13 -17 เมษายน 2550 ส่งผลให้ประชาชนคนไทยได้มีโอกาสร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์กับครอบครัวกันอย่างคึกคักในทุกพื้นทั่วประเทศ ภาครัฐโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)เป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ในกรุงเทพฯและเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ในภาคต่างๆอีก 11 จังหวัด สำหรับในกรุงเทพฯ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการร่วมกิจกรรมตามประเพณี และการใช้เวลาช่วงวันหยุดสงกรานต์ของคนกรุงเทพฯ ในลักษณะการสำรวจเชิงคุณภาพ จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,200 คน ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 4 เมษายน 2550
จากการสำรวจพบว่า คนกรุงเทพฯร้อยละ 32 เลือกพำนักในกรุงเทพฯช่วงสงกรานต์ ที่เหลือร้อยละ 68.0 วางแผนจะเดินทางออกจากกรุงเทพฯไปตามสถานที่ต่างๆซึ่งมีแนวโน้มลดลงประมาณร้อยละ 5 จากปีที่แล้ว โดยจำแนกออกเป็นกลุ่มต่างๆได้ดังนี้
- ร้อยละ 82.2 เป็นกลุ่มที่จะเดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัดหรือเดินทางไปเยี่ยมญาติในต่างจังหวัด
- ร้อยละ 15.2 เป็นกลุ่มที่จะเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัด ซึ่งมีทั้งที่เดินทางท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ และที่เดินทางท่องเที่ยวแบบค้างคืน
- ร้อยละ 2.6 เป็นกลุ่มที่วางแผนจะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ
  • คนกรุงฯพำนักในกรุงเทพฯ : ใช้จ่ายเม็ดเงินสะพัด 4,200 ล้านบาท
คนกรุงเทพฯที่เลือกจะอยู่ในกรุงเทพฯช่วงสงกรานต์เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ทั้งนี้เพื่อเลี่ยงการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงที่มีวันหยุดติดกันหลายวัน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าปกติโดยเฉพาะค่าที่พักและราคาแพ็กเกจทัวร์ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่ออุบัติภัยบนท้องถนนสูงจากการจราจรที่คับคั่ง
ในช่วงที่อยู่กรุงเทพฯส่วนใหญ่ร่วมกิจกรรมตามประเพณีสงกรานต์ ได้แก่ การทำบุญตักบาตรและสรงน้ำพระร้อยละ การรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำ ชมการละเล่น ขบวนแห่นางสงกรานต์ และงานมหรสพต่างๆ สถานที่จัดงานสงกรานต์ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ถนนข้าวสาร สนามหลวง และพุทธมณฑล เป็นต้น การใช้จ่ายเพื่อร่วมกิจกรรมสงกรานต์ในกรุงเทพฯมีมูลค่าประมาณ 2,200 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปีที่แล้ว เม็ดเงินส่วนใหญ่สะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในกรุงเทพฯ ได้แก่ ร้านจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องสังฆภัณฑ์ น้ำอบไทย แป้งร่ำ ดินสอพอง พวงมาลัย ปืนฉีดน้ำ เสื้อม่อฮ่อม เสื้อที่มีลวดลายและสีสันสดใส เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมนอกบ้านอื่นๆ ได้แก่ การรับประทานอาหารนอกบ้าน การเดินซื้อของตามห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า การชมภาพยนตร์ การเที่ยวตามสวนสนุก สวนสัตว์หรือสวนสาธารณะ ซึ่งมีการใช้จ่ายประมาณ 2,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 11 เม็ดเงินส่วนใหญ่สะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ภัตตาคารหรือร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าต่างๆ โรงภาพยนตร์ และสวนสนุกกลางแจ้ง เป็นต้น
การใช้จ่ายโดยรวมของผู้ที่เลือกจะพำนักในกรุงเทพฯช่วงวันหยุดสงกรานต์ปีนี้มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 4,200 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 จากปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่มีผู้พำนักอยู่ในกรุงเทพฯช่วงสงกรานต์ปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ประกอบกับราคาสินค้าและค่าบริการต่างๆที่ปรับสูงขึ้น
  • คนกรุงฯร่วมกิจกรรมสงกรานต์ในต่างจังหวัด : สร้างเม็ดเงินสะพัด 4,300 ล้านบาท
จาการสำรวจพบว่า คนกรุงเทพฯที่จะเดินทางไปต่างจังหวัดส่วนใหญ่ร่วมกิจกรรมตามประเพณีสงกรานต์ในต่างจังหวัด ก่อให้เกิดรายได้สะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,300 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 จากปีที่แล้ว
  • คนทำงานกรุงเทพฯกลับบ้านต่างจังหวัด : ใช้จ่ายสะพัด 7,500 ล้านบาท
ผู้ที่จะเดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัดส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัด ซึ่งเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และมักจะเดินทางกลับต่างจังหวัดช่วงสงกรานต์เป็นประจำทุกปี ค่าใช้จ่ายของผู้ที่จะเดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัดช่วงสงกรานต์มีมูลค่าประมาณ 7,500 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 7 ซึ่งประกอบด้วยค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้
1.การซื้อสินค้าของฝาก มีมูลค่าประมาณ 2,400 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปีที่แล้ว สินค้าที่นิยมซื้อเป็นของฝากญาติพี่น้องในต่างจังหวัดได้แก่ อาหาร เสื้อผ้าและของใช้ในบ้านต่างๆ
2.การเดินทางไปกลับต่างจังหวัด รวมทั้งการใช้เวลาช่วงวันหยุดสงกรานต์ในต่างจังหวัด อาทิ การเดินทางไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยว มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 5,100 ล้านบาท
  • คนกรุงฯเที่ยวต่างจังหวัด : ใช้จ่ายสะพัด 2,000 ล้านบาท
ผู้ที่จะเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดมีแนวโน้มลดลงจากปีที่แล้วเกือบร้อยละ 10 การเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดช่วงสงกรานต์ปีนี้มีทั้งการเดินทางไปเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ และการเดินทางไปเที่ยวแบบค้างคืนในสัดส่วนใกล้เคียงกัน
แหล่งท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับที่ได้รับความนิยมจากคนกรุงเทพฯในช่วงสงกรานต์ปีนี้ คือ แหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ ได้แก่ พัทยา รองลงมา คือ พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นนทบุรี และชะอำ
สำหรับแหล่งท่องเที่ยวแบบค้างคืนที่ได้รับความนิยมจากคนกรุงเทพฯในช่วงสงกรานต์ปีนี้ คือแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในภาคตะวันออก (ได้แก่ พัทยา เกาะช้าง และระยอง เป็นต้น) รองลงมา คือ แหล่งท่องเที่ยวในภาคกลางและตะวันตก (ได้แก่ ชะอำ หัวหิน และกาญจนบุรี เป็นต้น) แหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือ (ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง และนครสวรรค์ เป็นต้น) แหล่งท่องเที่ยวในภาคใต้ (ได้แก่ สมุย กระบี่ พังงา และหาดใหญ่ เป็นต้น) และแหล่งท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ได้แก่ ขอนแก่น และนครราชสีมา เป็นต้น) ตามลำดับ
ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงสงกรานต์ของคนกรุงเทพฯมีมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 จากปีที่แล้ว เม็ดเงินส่วนใหญ่สะพัดสู่ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจด้านที่พัก (อาทิ โรงแรม รีสอร์ต และบังกาโล) ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ร้านจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกนักท่องเที่ยว และบริการอื่นๆตามแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ
  • คนกรุงฯเที่ยวต่างประเทศ : ใช้จ่ายสะพัด 4,000 ล้านบาท
ผู้ที่จะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 12.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเลี่ยงการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงที่มีวันหยุดติดกันหลายวัน และแนวโน้มการท่องเที่ยวอย่างประหยัดโดยมุ่งเน้นการท่องเที่ยวระยะใกล้ที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวมีแนวโน้มถูกลงจากค่าเงินบาท และการให้บริการของสายการบินต้นทุนต่ำ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศของคนกรุงเทพฯในช่วงสงกรานต์ปีนี้มีมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาทลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 11 แหล่งท่องเที่ยวในต่างประเทศที่ได้รับความนิยมจากคนกรุงเทพฯ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รองลงมา คือ ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
การใช้จ่ายโดยรวมของคนกรุงเทพฯในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีมูลค่าประมาณ 22,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เม็ดเงินดังกล่าวประกอบด้วยการใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆของผู้ที่เลือกพำนักอยู่ในกรุงเทพฯช่วงสงกรานต์ปีนี้ 4,200 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 10.5 และการใช้จ่ายของผู้ที่เดินทางออกจากกรุงเทพฯในช่วงสงกรานต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัด และผู้ที่เดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงสงกรานต์ปีนี้คิดเป็นมูลค่า 13,800 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 8.7 นอกจากนี้ ยังมีเม็ดเงินที่ไหลออกนอกประเทศจากการใช้จ่ายของผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศในช่วงสงกรานต์คิดเป็นมูลค่า 4,000 ล้านบาทลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 11

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย