Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 พฤษภาคม 2550

เศรษฐกิจไทย

เปิดเทอมปี’50 : เงินสะพัด 50,000 ล้านบาท (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1988)

คะแนนเฉลี่ย
ผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเทอมนี้ต้องมีการปรับกลยุทธ์กันอย่างขนานใหญ่ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวและราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการคาดการณ์กันว่ากำลังซื้อของบรรดาผู้ปกครองจะลดลง และผู้ปกครองจะต้องหาทางรัดเข็มขัดกันทุกวิถีทาง ในขณะเดียวกันช่วงเปิดเทอมนั้นนับเป็นโอกาสทองของปีที่บรรดาผู้ประกอบธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเทอมจะเพิ่มยอดขายให้สูงขึ้น ดังนั้นบรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเทอมก็เริ่มมีการกระตุ้นตลาดตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายนหรือหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งนับว่าเร็วขึ้นกว่าเมื่อปี 2549 ที่บรรดาผู้ประกอบการเริ่มมีการส่งเสริมการจำหน่ายผ่านสื่อต่างๆประมาณปลายเดือนเมษายน อย่างไรก็ตามผู้ปกครองส่วนใหญ่เน้นการประหยัดต่อเนื่องมาจากปี 2549 จากเดิมที่ในช่วงเปิดเทอมใหม่แต่ละครั้งบรรดาผู้ปกครองจะซื้อเครื่องแบบนักเรียน รองเท้า และอุปกรณ์การเรียนต่างๆใหม่ทั้งหมดให้กับบุตรหลาน แต่ปัจจุบันนี้ผู้ปกครองจะซื้อน้อยลงหรือใช้ของเดิมไปก่อน ถ้าไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่จากการที่ต้องเปลี่ยนสถานศึกษา ดังนั้นการรักษายอดจำหน่ายให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมานับว่าเป็นโจทย์ข้อใหญ่ของบรรดาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเปิดเทอม นอกจากปัญหาที่บรรดาผู้ปกครองเน้นนโยบายประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเอง โดยมีการส่งเสริมการจำหน่ายทุกรูปแบบ ตลอดจนการหันไปร่วมมือจัดการส่งเสริมการขายร่วมกับห้างสรรพสินค้า และช่องทางโมเดิร์นเทรดทั้งหลาย โดยเฉพาะร้านดิสเคาต์นสโตร์ ซึ่งเป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอยยอดนิยมในปัจจุบัน นอกจากนี้ก็มีการเน้นการโฆษณาทางโทรทัศน์และสื่อต่างๆมากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับในปี 2549 รวมทั้งยังมีการหาช่องทางการจำหน่ายใหม่ๆ โดยเฉพาะการเข้าไปประมูลจำหน่ายสินค้าโดยตรงกับทางสถาบันการศึกษา
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ ;ค่าใช้จ่ายเปิดเทอมปี 2550” ในช่วงระหว่าง 1-20 เมษายน 2550 จากการสัมภาษณ์เชิงลึกเฉพาะผู้ปกครองที่มีบุตรหลานหรือเด็กในความดูแลที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม การกระจายกลุ่มตัวอย่างโดยคำนึงถึงความแตกต่างของระดับชั้นการศึกษา และประเภทของสถานศึกษา รวมทั้งหลักสูตรที่แตกต่างกัน โดยปัจจัยเหล่านี้มีความสำคัญที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมมีความแตกต่างกัน และกลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันในช่วงเปิดเทอมอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการสัมภาษณ์เชิงลึกกับบรรดาผู้ปกครองที่ออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าต่างๆที่เกี่ยวข้องกับช่วงเปิดเทอมให้กับบุตรหลาน รวมทั้งการเก็บรวบรวมรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่างๆของโรงเรียน/สถานศึกษา จากผลการสำรวจคาดว่าจะมีเงินสะพัดในช่วงเปิดเทอมทั่วประเทศสูงถึง 50,000 ล้านบาท โดยการคำนวณเม็ดเงินสะพัดสำหรับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมในปี 2550 คำนวณโดยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนนักเรียน/นักศึกษาในแต่ละระดับการศึกษา และความแตกต่างของค่าใช้จ่ายที่จะแตกต่างกันอันเนื่องจากประเภทของสถานศึกษาและหลักสูตรการศึกษา เมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่สะพัดในช่วงเปิดเทอมปี 2549 แล้วค่าใช้จ่ายในปี 2550 เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 โดยบรรดาผู้ปกครองมีการปรับตัวเพื่อเตรียมรับปัญหาในช่วงเปิดเทอมแยกออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกจะหันมาซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนเร็วขึ้น โดยเลือกซื้อตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่บรรดาผู้ประกอบการให้ส่วนลดมากที่สุดถึงร้อยละ 20-30 และยังได้รับความสะดวกในการเลือกซื้อ เนื่องจากลูกค้ายังไม่แน่นเหมือนช่วงใกล้เปิดเทอม ส่วนผู้ปกครองอีกกลุ่มหนึ่งจะเน้นประหยัด ลดปริมาณในการซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน
ในปีนี้ค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญคือ ค่าเล่าเรียนของสถานศึกษาบางแห่งปรับเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา สถานศึกษาบางแห่งเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสมทบเพิ่มขึ้น และผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยส่งบุตร/หลานเข้าศึกษาในหลักสูตรพิเศษ เช่น หลักสูตรการเรียนสองภาษา หลักสูตรนานาชาติ เป็นต้น โดยยินดีเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แม้ว่าค่าใช้จ่ายของหลักสูตรเหล่านี้จะสูงกว่าหลักสูตรปกติประมาณ 2-3 เท่าตัว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย