Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 มิถุนายน 2550

เศรษฐกิจไทย

คำตัดสินคดียุบพรรค … เปิดทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1997)

คะแนนเฉลี่ย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา จะได้ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2550 นี้ขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0 โดยชะลอตัวลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 ในไตรมาสที่สี่ปี 2549 ในขณะที่การขยายตัวในไตรมาสที่สองคงจะดีขึ้นเล็กน้อยอันเนื่องมาจากผลของฐาน คือเท่ากับประมาณร้อยละ 3.5-4.0 นอกจากนี้ แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในช่วงข้างหน้ายังคงจะต้องผ่านเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในต้นเดือนกันยายน และการเลือกตั้งทั่วไป แต่ความชัดเจนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นหลังคำตัดสินของตุลาการรัฐธรรมนูญในวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก็น่าที่จะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อความเชื่อมั่นและภาวะการใช้จ่ายของภาคเอกชน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่สามเป็นต้นไป โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 2550 อาจจะอยู่ที่ร้อยละ 4.0-5.0 เมื่อเทียบกับร้อยละ 3.0-3.5 ในช่วงครึ่งแรกของปี ขณะที่อัตราการขยายตัวของทั้งปี 2550 อาจอยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.5 เทียบกับร้อยละ 5.0 ในปี 2549
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อของประเทศมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ โดยเฉพาะหากธปท.มองว่าเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มที่จะขยายตัวดีขึ้นแล้ว แต่การที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.50 นั้น ยังคงอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งปีหลัง ที่คาดไว้ที่ร้อยละ 2.2-2.5 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธปท.ยังพอที่จะมีช่องในการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีกเล็กน้อย เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยสามารถที่จะฟื้นตัวขึ้นได้จริง โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 2550 อัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวอาจจะปรับลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.00-3.25
แม้ว่าการทยอยฟื้นตัวของภาวะการใช้จ่ายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนและการบริโภค น่าจะส่งผลให้การนำเข้าขยายตัวเด่นชัดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 แต่ก็คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยน่าจะยังคงมีฐานะที่เกินดุล โดยการเกินดุลในช่วงครึ่งหลังของปีนั้น จะได้รับแรงหนุนจากดุลบริการ ตามปัจจัยทางด้านฤดูกาลของธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งฐานะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวเมื่อประกอบกับความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีพัฒนาการในเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความเป็นไปได้ที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯอาจจะอ่อนตัวลงหากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในไตรมาสที่สี่ ก็น่าที่จะเป็นแรงหนุนสำคัญต่อค่าเงินบาท โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2550 อาจจะอยู่ที่ระดับประมาณ 34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับในด้านปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยนั้น คงจะต้องยอมรับว่าสถานการณ์ด้านการเมืองในประเทศยังคงเป็นประเด็นหลักที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะในการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในเดือนกันยายน และการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น ต่อเนื่องไปจนถึงเสถียรภาพของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ในขณะที่ทิศทางราคาน้ำมันก็อาจจะส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธปท.ได้ สำหรับปัจจัยภายนอกประเทศที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดนั้น คงจะได้แก่การปรับฐานของตลาดหุ้นจีน ที่อาจส่งผลต่อเนื่องไปยังตลาดหุ้นอื่น ๆ ในภูมิภาค ในขณะที่ภาวะฟองสบู่ของจีนเองก็อาจกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทย นอกจากนี้ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและความเป็นไปได้ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด ที่สวนทางกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในกลุ่มยูโรและญี่ปุ่นนั้น ก็อาจจะส่งผลต่อความผันผวนในตลาดเงินระหว่างประเทศได้เช่นกัน

หน่วย: % YoY, หรือระบุเป็นอย่างอื่น 2549 2550
ครึ่งแรก ครึ่งหลัง ทั้งปี
GDP 5.0 3.0-3.5 4.0-5.0 3.5-4.5
การบริโภคภาคเอกชน 3.1 1.5-2.5 3.0-3.5 2.3-3.0
การลงทุนรวม 4.0 -3.2 ถึง -1.5 0.1-4.3 -1.5 ถึง +1.4
เอกชน 3.9 -5.3 ถึง -3.5 -0.7 ถึง +3.9 -3.1 ถึง +0.1
รัฐ 4.5 3.9-4.8 2.5-5.5 3.1-5.2
การส่งออก 17.4 15.0-17.0 8.0-10.0 11.0-13.0
การนำเข้า 7.0 4.0-5.0 8.0-10.0 6.0-8.0
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ฯ) 3.2 5.5 ถึง 6.0 3.9 ถึง 6.5 9.4 ถึง 12.0
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ย (บาท/ลิตร) 25.6 24.2 25.1 24.6
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ย (ดอลลาร์ฯ) 65.2 62.6 65.3 64.0
ค่าเงินบาท (เฉลี่ย) 37.93 35.13 34.54 34.83
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) 4.7 2.1-2.2 2.2-2.5 2.1-2.3
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) 2.3 1.2 1.4 1.3
อัตราดอกเบี้ย Repo-1Day (ระดับปิด) 4.9375 3.50 3.00-3.25 3.00-3.25

ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย