Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 สิงหาคม 2550

เศรษฐกิจไทย

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ... ยังคงเผชิญกับความเสี่ยง (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1991)

คะแนนเฉลี่ย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.3 ในไตรมาสที่ 2 ปี 2550 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ใกล้เคียงกับไตรมาสแรกที่ผ่านมา โดยแม้ว่าภาวะการใช้จ่ายในประเทศยังคงชะลอตัว แต่การส่งออกยังคงขยายตัวได้ดีในไตรมาสที่สองนี้ และช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลต่อเนื่องจากในไตรมาสแรก สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2550 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0-4.5 ซึ่งใกล้เคียงกับในช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของทั้งปี 2550 อยู่ในช่วงร้อยละ 4.3-4.5 โดยลดลงจากปี 2549 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 โดยปัจจัยหนุนทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 นี้ ได้แก่ ภาวะการเมืองที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ตลอดจนการใช้จ่ายในประเทศที่น่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่ชะลอตัวได้สร้างแรงกดดันต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ในขณะที่ปัญหาซับไพร์มของสหรัฐฯได้ส่งผลกระทบและสร้างความผันผวนต่อทั้งตลาดทุนและอัตราแลกเปลี่ยน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในขณะนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ โดยปัจจัยภายนอกประเทศสำคัญคงจะหลีกไม่พ้นผลกระทบจากปัญหาซับไพร์มของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลให้การบริโภคของครัวเรือนสหรัฐฯชะลอตัวลง และส่งผลต่อเนื่องไปยังการส่งออกของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนปัจจัยความไม่แน่นอนภายในประเทศนั้น คาดว่า นักลงทุนและภาคธุรกิจยังคงเฝ้าติดตามประเด็นด้านเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะได้ผ่านการลงประชามติไปแล้วเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมาก็ตาม นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงติดตามการดำเนินการพิจารณากฎหมายธุรกิจที่สำคัญ ๆ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และพ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง เป็นต้น ในขณะเดียวกันความล่าช้าของโครงการรถไฟฟ้า รวมทั้งการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ต่ำกว่าเป้า ก็อาจกระทบต่ออัตราการขยายตัวของการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2550 และอาจจะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2551 ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ นอกจากนี้ การลงทุนของภาครัฐและเอกชนยังเผชิญกับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว (long-term bond yields) ที่ได้ปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แม้ว่าธปท.จะได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาก็ตาม
หน่วย: % YoY, หรือระบุเป็นอย่างอื่น 2549 2550
ครึ่งแรก ครึ่งหลัง ทั้งปี
GDP 5.0 4.3 4.0-4.5 4.3-4.5
การบริโภคภาคเอกชน 3.1 1.4 1.5-2.5 1.5-2.0
การลงทุนรวม 4.0 0.1 0.1-4.1 0.1-2.1
เอกชน 3.9 -0.8 -0.7 ถึง +3.6 -0.8 ถึง +1.4
รัฐ 4.5 2.9 2.5-5.5 2.7-4.2
การส่งออก 17.4 18.4 4.5-7.5 11.5-13.0
การนำเข้า 7.0 6.4 3.5-7.5 5.0-7.0
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ฯ) 3.2 6.2 4.3-7.3 10.5-13.5
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ย (บาท/ลิตร) 25.6 24.2 25.4 24.8
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ย (ดอลลาร์ฯ) 65.2 63.2 70.6 66.9
ค่าเงินบาท (เฉลี่ย) 37.93 35.14 34.00 34.57
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) 4.7 2.2 1.9 2.0
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) 2.3 1.1 0.9 1.0
อัตราดอกเบี้ย Repo-1Day (ระดับปิด) 4.9375 3.50 3.00 3.00

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย