Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 พฤษภาคม 2566

เศรษฐกิจไทย

การเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้มากกว่าอัตราการเพิ่มของค่าแรงขั้นต่ำ เป็นแนวทางที่ควรดำเนินการ (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4005)

คะแนนเฉลี่ย

        การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ จะช่วยลูกจ้างให้มีความสามารถในการใช้จ่ายได้มากขึ้นท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเอกชนที่ใช้แรงงานจำนวนมาก (Labor-intensive) ให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนายจ้างที่จ่ายค่าตอบแทนแรงงานอิงกับค่าแรงขั้นต่ำในสัดส่วนสูง
        กรณีที่ค่าแรงขั้นต่ำถูกปรับเพิ่มราว 30% และนายจ้างต้องปรับค่าตอบแทนแรงงานส่วนอื่นๆ ที่ไม่ได้อิงกับค่าแรงขั้นต่ำ ตามเกณฑ์ปกติ เช่น 5% ด้วย พบว่า ต้นทุนแรงงานของภาคเอกชนเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 16% ขณะที่ หากแยกตามประเภทธุรกิจ ธุรกิจเกษตร ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ก่อสร้าง บริการด้านอื่นๆ รวมถึงงานในครัวเรือนส่วนบุคคล จะมีต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นจากเดิม 18-28% เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มีจำนวนลูกจ้างที่ได้รับค่าแรงอิงกับค่าแรงขั้นต่ำ ในสัดส่วนที่สูงกว่า อย่างไรก็ตาม ผลสุทธิต่อความสามารถในการทำกำไรจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการทั้งฝั่งรายได้และต้นทุนซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละธุรกิจและกิจการ
        โจทย์ด้านแรงงาน เป็นประเด็นเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อนและจะคงอยู่ต่อเนื่องไปแม้หลังมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล โดยเฉพาะเมื่อไทยจะเป็นสังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ ผนวกกับไปข้างหน้าทักษะแรงงานคงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับพลวัตทางธุรกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้ได้ในอัตราที่มากกว่าและเร็วกว่าอัตราการเพิ่มของต้นทุนแรงงาน จะเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้ภาคธุรกิจเอกชนสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหากรัฐบาลเป็นผู้ผลักดันให้มีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ก็ควรที่จะเข้ามาช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานนี้ รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนสำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีความเปราะบางให้สามารถข้ามผ่านสถานการณ์ที่ท้าทายนี้ไปด้วยกัน



ดูรายละเอียดฉบับเต็ม