ประชากรผู้สูงอายุของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและในอัตราที่รวดเร็ว กลุ่มวัย Silver Age
จึงจะกลายมาเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจจากสัดส่วนการใช้จ่ายที่มากกว่ากลุ่มช่วงอายุอื่น ๆ แม้ว่า Deloitte ได้ประมาณการว่า ภายในปี 2573 สัดส่วนการบริโภคของ Silver age ของไทยจะมีมูลค่าการบริโภคสูงถึง 331 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าสิงคโปร์เสียอีก แต่ไทยน่าจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุขั้นสุดยอด (Super-aged Society) ภายในปี 2572 ซึ่งการเข้าสู่สังคมสูงอายุของไทยนั้นมีความท้าทายเนื่องจากสถานะการเงินของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ มีเปราะบางและสวัสดิการรัฐที่ไม่เพียงพอ หรือ “แก่ก่อนรวย” โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ภาคการเงิน จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ที่ช่วยส่งเสริมการใช้ชีวิตวัย Silver Age อย่างมีคุณภาพได้
สังคมผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ขาดความพร้อมสำหรับการเกษียณอายุ รายได้น้อย ขาดการออม และสวัสดิการของรัฐที่จำกัด โดยสะท้อนจากสถานภาพทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุไทย ส่วนใหญ่ยังคงทำงานอยู่หรือมีลูกหลานเลี้ยงดู โดยร้อยละ 34 ของผู้สูงอายุมีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจน ส่งผลให้มีเพียงแค่ร้อยละ 5 ของผู้สูงอายุทั้งประเทศไทยที่มีเงินเหลือเก็บ แต่มูลค่าการออมยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50,000 บาทราวร้อยละ 40 ของจำนวนผู้สูงอายุที่มีการออม เรียกได้ว่า สถานะการเงินของผู้สูงอายุไทยอยู่ในภาวะเปราะบาง ทำให้ต้องเกษียณอายุโดยขาดความพร้อมและมีความเสี่ยงทางการเงิน นอกจากนี้ ระบบสวัสดิการของรัฐที่อาจยังไม่ครอบคลุมหรือไม่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น ปัจจุบัน เบี้ยผู้สูงอายุของไทยเฉลี่ยอยู่เพียง 600-1,000 บาท/เดือน ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อการยังชีพในปัจจุบัน เป็นต้น
ประเทศไทยจะเป็นประเทศ ‘แก่ก่อนรวย’ ประเทศแรก ซึ่งจะกลายเป็นความท้าทายทั้งเชิงโครงสร้างประชากร การลดลงของกำลังแรงงาน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับประเทศ มิใช่เพียงแค่ภาระทางการคลังที่ภาครัฐจะต้องพิจารณาต่อไปเท่านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ภาคการเงินจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ที่ช่วยส่งเสริมการใช้ชีวิตวัย Silver Age อย่างมีคุณภาพได้ โดยกลไกการสร้างรายได้ในระยะปัจจุบันและสนับสนุนการเก็บออมที่สม่ำเสมอในระยะยาว จะเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุ และผู้ที่เตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ ใช้ชีวิตในวัยเกษียณได้อย่างมั่นคงมากขึ้น โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทางการเงินของไทยยังคงมีช่องว่างที่ยังสามารถพัฒนาต่อไปได้ หากมีการสนับสนุนและการร่วมมือระหว่างกันของภาครัฐและเอกชน
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น