ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไทยจะก้าวเป็นสังคมสูงอายุขั้นสุดยอดหรือ Super-Aged Society ในปี 2572 เร็วขึ้นกว่าเดิม หลังประชากรไทยเริ่มลดจำนวนลงมาแล้ว 3 ปีติดต่อกันตั้งแต่ปี 2563-2565 จากอัตราการเกิดและภาวะเจริญพันธุ์มีแนวโน้มลดต่ำลงต่อเนื่อง รวมถึงประชากรรุ่น Baby Boomer (เกิดช่วงปี 2506-2526) ราว 1 ล้านคน กำลังจะเข้าสู่ช่วงอายุ 60 ปีเป็นจำนวนมากในปี 2566 นี้ ขณะที่ การปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่แน่นอนสูงจากความไม่มั่นคงทางด้านรายได้ และความกังวลต่อเหตุการณ์แวดล้อมทั้งการเกิดวิกฤตโรคระบาดใหม่ ภัยธรรมชาติ วิกฤตความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ทำให้เกิดค่านิยมที่คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการมีบุตร
โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป อาจเป็นได้ทั้งโอกาสและความท้าทายที่ภาคธุรกิจต้องเตรียมความพร้อมรับมือ เนื่องจาก 1) รายได้ธุรกิจอาจถูกกระทบหากลูกค้ายังคงใช้จ่ายไม่ต่างจากเดิม แต่ฐานลูกค้ามีจำนวนที่ลดลงเรื่อยๆ ส่งผลให้หากธุรกิจต้องการรักษายอดขายให้ได้เท่าเดิม ก็จำเป็นต้องกระตุ้นให้ลูกค้าหนึ่งคนใช้จ่ายมากขึ้นมากเมื่อเทียบในอดีตที่ยังอาศัยการเพิ่มจำนวนลูกค้าได้ 2) รูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการที่เสนอต่อลูกค้าต้องมีการปรับเปลี่ยน จากฐานประชากรสูงอายุที่มีมากขึ้น ดังนั้น หากผู้ประกอบการธุรกิจต้องการรักษาการเติบโตของยอดขาย อาจต้องเน้นพัฒนาสินค้าและบริการที่แตกต่างเพื่อตอบโจทย์ผู้สูงวัยในราคาที่เอื้อมถึงได้ รวมถึงการขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดต่างประเทศที่นิยมสินค้าไทยหรือตลาดระดับภูมิภาค 3) ต้นทุนธุรกิจมีแนวโน้มสูงขึ้นตามภาวะการขาดแคลนกำลังแรงงาน ส่งผลให้ธุรกิจอาจต้องเน้นเรื่องการพัฒนาทักษะแรงงานและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาคธุรกิจต่างๆ คงต้องเร่งปรับตัวและเตรียมการรองรับประเด็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทย ซึ่งจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับโจทย์อีกหลายด้านพร้อมๆ กัน ทั้งเรื่องความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และประเด็นความยั่งยืน (Sustainability) ที่เป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น นอกจากนี้ ประเด็นนี้คงเป็นโจทย์สำคัญที่รอการจัดการของรัฐบาลชุดใหม่เช่นกัน เนื่องจากจะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงแผนงานด้านสวัสดิการต่างๆ ในช่วงข้างหน้า
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น