Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 มกราคม 2565

เศรษฐกิจไทย

รัฐบาลกู้เพิ่มต่อเนื่องในปี 2565-2566...แม้กระทบสภาพคล่อง แต่ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3962)

คะแนนเฉลี่ย

​ทิศทางการขาดดุลงบประมาณในช่วงปี 2565-2566 ยังคงอยู่สูงกว่าในช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องต่อแผนการก่อหนี้ของภาครัฐในปี 2565 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยอดคงค้างหนี้ในประเทศของภาครัฐในปี 2565 (ตามปีปฏิทิน) มีโอกาสแตะระดับ 9.90 ล้านล้านบาท หรือขยับขึ้นประมาณ 1.50 ล้านล้านบาทจากยอดคงค้างฯ ในปี 2564 ในจำนวนนี้หลักๆ น่าจะเป็นการระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลและตั๋วเงินคลังมากขึ้น อย่างไรก็ดีผลกระทบต่อระดับสภาพคล่องของตลาดพันธบัตรไทยในภาพรวมจะยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากคาดว่า ธปท. จะปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรของธปท. ในปี 2565 ลง และไถ่ถอนพันธบัตรบางส่วนเพื่อช่วยปล่อยสภาพคล่องคืนกลับเข้าสู่ตลาด และเปิดพื้นที่ให้กับปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามแผนการกู้เงินเพื่อรองรับมาตรการฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19

    แม้จะมีแนวทางช่วยบรรเทาผลกระทบต่อระดับสภาพคล่องในตลาดพันธบัตร แต่กระนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอาจขยับขึ้นในปี 2565 จาก 2 ปัจจัย ได้แก่ ทิศทางขาขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และปริมาณพันธบัตรรัฐบาลไทยที่จะภาครัฐมีแผนจะออกเพิ่มขึ้น โดยคาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี และอายุ 10 ปีของไทย อาจขยับสูงขึ้นแตะ 0.80% และ 2.20% ในปี 2565 จากระดับ 0.66% และ 1.90% ณ สิ้นปี 2564 ตามลำดับ

สำหรับผลต่อสภาพคล่องในระบบนั้น คงต้องยอมรับว่า ปัจจัยการกู้เพิ่มของภาครัฐจะทำให้มีการทยอยใช้สภาพคล่องในระบบ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2565 ยังน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงและมีโอกาสขยับขึ้นเล็กน้อย (แม้ว่าขนาดการปรับขึ้นอาจจะไม่สูงเท่ากับในปี 2564)  เนื่องจากภายใต้สถานการณ์ที่โควิด-19 ยังยืดเยื้ออาจทำให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เติบโตในกรอบที่จำกัด ขณะที่ยังน่าจะมีการกอดสภาพคล่องในรูปเงินฝากอยู่ ประกอบกับธปท. มีแนวโน้มทยอยปรับลดการออกตราสารหนี้เพื่อบรรเทาสภาพคล่องในระบบไม่ให้ตึงตัว ดังนั้นแล้ว จุดเปลี่ยนสำคัญต่อทิศทางสภาพคล่องของระบบการเงินไทยในปี 2565 จะอยู่ที่สถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจต้องระวังการเปลี่ยนทิศมาเป็นฝั่งไหลออก โดยเฉพาะตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 2/2565 เป็นต้นไป เนื่องจากเป็นช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเดินหน้าคุมเข้มนโยบายการเงินมากขึ้น หลังยุติมาตรการ QE อย่างไรก็ดี สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น คาดว่า กนง.มีแนวโน้มยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี 2565 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย