Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 ธันวาคม 2562

เศรษฐกิจไทย

ค่าจ้างขั้นต่ำปี’63 ปรับขึ้น 5-6 บาท ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ความท้าทายต่อ SMEs ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3837)

คะแนนเฉลี่ย

​​​        ​ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 20 มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2562 ให้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศในปี 2563 อีก 5-6 บาท มาอยู่ในช่วง 313-336 บาทต่อวัน (เฉลี่ย 321.09 บาทต่อวัน) จากอัตรา 308-330 บาทต่อวัน (เฉลี่ย 315.97 บาทต่อวัน) ในช่วงปี 2561-2562 หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 จากปี 2562 โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป โดยมี 9 จังหวัดที่ได้ปรับขึ้น 6 บาทต่อวัน และอีก 68 จังหวัดที่เหลือปรับขึ้น 5 บาทต่อวัน            

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2563 ต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และ GDP ดังต่อไปนี้

  • ผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการในปี 2563: ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2563 ต่อต้นทุนรวมของสถานประกอบการขนาดต่างๆ พบว่า หากค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นร้อยละ 1.6 จะทำให้ต้นทุนรวมของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ในปี 2563
  • ผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563: ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 ยังอยู่ในกรอบที่จำกัด โดยผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นอีกราวร้อยละ 0.05 จากประมาณการพื้นฐาน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 ที่ร้อยละ 0.7 โดยรวมผลของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2563 ไว้ด้วยแล้ว

 

  • ผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2563: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หากปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 1.6 จะส่งผลสุทธิทางลบประมาณร้อยละ 0.01 ต่อจีดีพีไทยในปี 2563 เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะชะลอตัว การปรับขึ้นราคาสินค้าในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการจำต้องรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดไว้เอง ซึ่งอาจจะกระทบขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาผู้ประกอบการ SMEs
  • อย่างไรก็ดี แม้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2563 อีก 5-6 บาทต่อวัน จะส่งผลกระทบในระดับมหภาคอย่างไม่มีนัยสำคัญ แต่หากพิจารณาในระดับจุลภาคแล้ว การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ในระดับที่แตกต่างกัน โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหาร ค้าปลีกค้าส่ง ก่อสร้าง และภาคเกษตรกรรม


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม