แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2563 น่าจะยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ร้อยละ 0.7 (ช่วงกรอบประมาณการที่ร้อยละ 0.4-0.9) ท่ามกลางความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งและการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยปัจจัยที่เป็นแรงหนุนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 มาจาก
- ราคาอาหารสดที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จากภาวะขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในปี 2562
- การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 5-6 บาทต่อวันในปี 2563 น่าจะผลักดันอัตราเงินเฟ้อทางอ้อมให้สูงขึ้นอีกร้อยละ 0.05
- ปัจจัยอื่นๆ เช่น การจัดเก็บภาษีความหวานในอัตราใหม่ในช่วงเดือนต.ค. 2562 และการเริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่มีผลบังคับใช้ในช่วงเดือนส.ค. 2563 ซึ่งอาจจะส่งผลให้ค่าเช่าบ้าน/คอนโดปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563
อย่างไรก็ดี แม้มีหลายปัจจัยหนุนเงินเฟ้อในปี 2563 แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อกำลังซื้อผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งนอกจากจะทำให้แรงหนุนเงินเฟ้อฝั่งอุปสงค์อ่อนแรงลงแล้ว ยังเป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการในการปรับขึ้นราคาสินค้า ท่ามกลางการแข่งขันทางด้านราคาที่สูงขึ้น โดยเฉพาะกับร้านค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์สซึ่งเป็นปัจจัยกดดันให้เงินเฟ้อไทยยังอยู่ในระดับต่ำ นอกเหนือจากปัจจัยเชิงโครงสร้างอย่างการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าลดลงและเน้นการเก็บออมเพิ่มขึ้น และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีราคาถูกลง
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น