Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 มีนาคม 2563

เศรษฐกิจไทย

WHO ยกระดับ COVID-19 เป็น “การระบาดครั้งใหญ่ของโลก” ผลต่อการส่งออกไทย (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3091)

คะแนนเฉลี่ย

​​​

การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ลุกลามไปทั่วโลก จนกระทั่งล่าสุด WHO ได้ยกระดับให้เป็น “การระบาดครั้งใหญ่ของโลก" ยิ่งทำให้สภาวะตลาดโลกต่อจากนี้ซบเซา กลายเป็นความเสี่ยงที่หนักยิ่งขึ้นของธุรกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกในระยะข้างหน้า ดังนี้

  1. ธุรกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกไปยังต่างประเทศต้องเตรียมรับมือกับตลาดโลกที่ชะลอตัว ขึ้นอยู่กับว่ามีการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (EU) และญี่ปุ่น มากแค่ไหน แบ่งเป็น 1.1) กลุ่มที่ได้รับผลกระทบไปแล้ว และกำลังฟื้นตัวตามจีนที่เริ่มกลับมา คือกลุ่มที่พึ่งพาการส่งออกไปจีนเป็นหลักและผลิตสินค้าขั้นกลางจำพวกเม็ดพลาสติก เส้นใยสิ่งทอ รวมถึงผลไม้ไทย 1.2) กลุ่มที่ต้องเตรียมรับผลกระทบระลอกถัดมา คือกลุ่มที่พึ่งพาการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ EU และญี่ปุ่นเป็นหลัก ซึ่งตลาดเหล่านี้กำลังเผชิญแพร่ระบาดในวงกว้าง สินค้าไทยที่น่ากังวลอย่างมากอยู่ในกลุ่มไก่แปรรูป อาหารทะเลแปรรูป อิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลางและสินค้าขั้นสุดท้าย 1.3) กลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ตั้งแต่ COVID-19 เริ่มแพร่ระบาดและอาจลากยาวจนกว่าทุกอย่างจะยุติ คือกลุ่มที่พึ่งพาการส่งออกไปจีน สหรัฐฯ EU และญี่ปุ่นในสัดส่วนที่สูงจะต้องแบกรับภาระตลาดที่ซบเซายาวนาน ได้แก่ กุ้งแปรรูป ผักกระป๋อง แผงวงจรไฟฟ้า (PCB) ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า ยางล้อ และที่นอน เป็นต้น

                2. ธุรกิจที่พึ่งพาตลาดในไทยก็คงต้องเตรียมรับเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่อง โดยไตรมาส 2 อาจมีปัจจัยจากเศรษฐกิจนอกประเทศเข้ามากดดันให้ตลาดในประเทศอ่อนแรงยิ่งขึ้น  2.1) กลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในไทยเป็นหลัก อย่างกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าเกษตร แม้จะยังพอทำตลาดได้ แต่ความซบเซาภายในประเทศจากการเฝ้าระวังไวรัส อาจยิ่งซ้ำเติมรายได้ภาคเกษตรกรไทยในปีนี้ 2.2) กลุ่มที่พึ่งพาวัตถุดิบ/นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ สามารถทยอยกลับมาผลิตได้ตามการฟื้นตัวของจีน แม้จะผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่ายได้เป็นปกติแต่ด้วยตลาดก็ไม่เอื้อก็ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งต้องอาศัยเงินทุนหมุนเวียนให้พอประคองตัวให้ไปต่อได้จนกว่าทุกอย่างจะกลับสู่สภาพเดิม

                  ดังนั้น โจทย์ใหญ่ที่ธุรกิจไทยจะต้องเผชิญจากนี้ไปคือการชะงักงันของตลาด เพราะไม่ว่าจะส่งสินค้าไปที่ไหนก็ยากจะทำตลาดได้ โดยธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นที่จะยังเติบโตได้ท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้ ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าอื่นที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้ในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้าคงต้องยอมรับสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ และอดทนรอให้ทุกอย่างกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท ยานยนต์ อุปกรณ์แต่งบ้าน และอุปกรณ์กีฬา

    นอกจากนี้ การฟื้นตัวของจีนทำให้จีนเป็นประเทศเดียวที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยกู้วิกฤตไวรัสโลก โดยน่าจะได้เห็นการส่งออกของจีนไปตลาดโลกเร่งตัวขึ้นสูงในกลุ่มสินค้าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อานิสงส์ให้การส่งออกของไทยไปจีนกระเตื้องขึ้นในกลุ่มสินค้าขั้นกลางของไทยที่ช่วยสนับสนุนการผลิต โดยเฉพาะยางพารา เส้นใยสังเคราะห์ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น รวมทั้งสินค้าในกลุ่มอาหารและสินค้าจำเป็นของไทยก็น่าจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่นไม่ว่าจะเป็นผลไม้ไทย อุปกรณ์การแพทย์ ถุงมือทางการแพทย์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แม้การส่งออกไปจีนจะเริ่มฟื้นตัวได้ในไตรมาส 2/2563 แต่คงไม่เพียงพอที่ดึงภาพรวมการส่งออกของไทยไปจีนทั้งปีให้กลับมาเร่งตัว เนื่องจากบรรยากาศกำลังซื้อของจีนคงอ่อนแรงตลอดช่วงที่เหลือของปี ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกของไทยไปจีนปี 2563 ไม่ต่างไปจากที่คาดการณ์เดิมว่าจะหดตัวราวร้อยละ 6-9 ซึ่งการอาศัยเพียงตลาดจีนอย่างเดียวคงไม่สามารถกู้วิกฤตการส่งออกของไทยได้ให้ฟื้นกลับมาได้ในทันที โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมองว่า การส่งออกของไทยไปตลาดโลกในปี 2563 จะยังหดตัวที่ร้อยละ 5.6

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย