Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 ตุลาคม 2563

เศรษฐกิจไทย

‘ช้อปดีมีคืน’ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายส่งท้ายปี’ 63... คาดหนุนยอดขายร้านอาหารและสินค้าไอทีเพิ่มขึ้น (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3149)

คะแนนเฉลี่ย

​             ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มาตรการ 'ช้อปดีมีคืน' น่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภคที่มีรายได้มากกว่า 500,000 บาทต่อปีขึ้นไป หรือรายได้ประมาณ 42,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมพบว่า ผู้บริโภคกลุ่มนี้สนใจที่จะใช้สิทธิจากมาตรการฯ ดังกล่าว มากกว่าร้อยละ 70.0 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ขณะที่ ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยกว่า 500,000 บาทต่อปี ส่วนใหญ่ยังคงกังวลกำลังซื้อในอนาคต และโดยปกติก็เสียภาษีในอัตราที่ไม่สูงมาก จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเพิ่ม

           สินค้าและบริการยอดนิยม 3 อันดับแรก คือ การรับประทานอาหารในร้านอาหาร อุปกรณ์ไอที (Smart phone, Smart watch, Computer, Gadget ต่างๆ)  และของใช้จำเป็นส่วนบุคคล เช่น แชมพู ครีมอาบน้ำ ยาสีฟัน ซึ่งโดยปกติผู้บริโภคมีการรับประทานอาหารและซื้อสินค้าในกลุ่มของใช้จำเป็นส่วนบุคคลอยู่แล้ว จึงไม่ได้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่าช่วงที่ไม่มีมาตรการฯ มากนัก ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุปกรณ์ไอทีน่าจะได้รับความสนใจจากกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานมากขึ้นกว่าช่วงที่ไม่มีมาตรการฯ ทั้งนี้ ผู้บริโภควางแผนที่จะใช้จ่ายผ่านห้างสรรพสินค้า (รวมถึงร้านค้าและร้านอาหารที่เช่าพื้นที่อยู่ภายในห้างสรรพสินค้า) เป็นหลัก ซึ่งห้างสรรพสินค้าเป็นช่องทางหน้าร้านที่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องของสินค้าและบริการที่ครบวงจร ขณะที่ E-market place เป็นช่องทางออนไลน์ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน

 ​ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า แรงส่งจากมาตรการ “ช้อปดีมีคืน" และ “คนละครึ่ง" ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายส่งท้ายปี 2563 นี้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อและการใช้จ่ายที่ออกมาก่อนหน้านี้ เช่น มาตรการคนละครึ่ง น่าจะช่วยหนุนภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกทั้งปี ให้หดตัวลดลงเป็นร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับหากไม่มีมาตรการฯ ที่คาดว่าจะหดตัวราวร้อยละ 7.2 YoY ซึ่งผู้ประกอบการค้าปลีกควรเตรียมพร้อมทั้งในเรื่องของสต็อกสินค้า การอำนวยความสะดวกในเรื่องของใบกำกับภาษี เช่น มีบริการจัดส่งใบกำกับภาษีตามไปให้ถึงที่พักอาศัย หรือเป็นการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องต่อคิวรอนาน ควบคู่ไปกับมาตรการดังกล่าว เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย