เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ยังให้ภาพที่ชะลอตัว ตามผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ประเด็นค่าเงินบาทที่ลดทอนขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออก ท่ามกลางการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนที่ยังโตในกรอบจำกัด ในขณะที่การใช้จ่ายครัวเรือนยังสามารถเป็นตัวหนุนเศรษฐกิจไทยได้อย่างต่อเนื่อง โดยทิศทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 จะยังคงมีภาพที่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 3 แต่มีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ช่วยประคองภาพรวมการใช้จ่ายครัวเรือน ตลอดจนความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 น่าจะโตดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ 3 แต่คงไม่เพียงพอที่จะทำให้ภาพรวมทั้งปี 2562 ขยายตัวได้ตามที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไว้ที่ร้อยละ 2.8 ในขณะที่ยังมองกรอบล่างไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.5
ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังเผชิญความไม่แน่นอนจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกทั้งเรื่องสงครามการค้า และ Brexit ที่ยังไม่มีจุดลงตัว ประกอบกับทิศทางการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจหลักของโลก ค่าเงินบาทที่ยังคงมีทิศทางแข็งค่า ทำให้ภาพการฟื้นตัวของส่งออกไทยในปีหน้ายังเป็นความท้าทายและต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดังนั้น นโยบายการเงินการคลังแบบผ่อนคลายยังคงมีความจำเป็นในการดูแลโจทย์เศรษฐกิจไทยในปีหน้าให้ประคองการขยายตัวได้ในกรอบการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทยในเบื้องต้นที่ร้อยละ 2.5-3.0
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น