Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 เมษายน 2565

สถาบันการเงิน

หนี้ครัวเรือนไทยปี 2565 อาจชะลอลงมาที่กรอบ 86.5-88.5% ต่อจีดีพี...แต่ฐานะการเงินของภาคครัวเรือนยังอ่อนแอ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3318)

คะแนนเฉลี่ย

​ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2564 เติบโต 3.9% ใกล้เคียงกับ 4.0% ในปี 2563 แต่เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจที่ยังเติบโตช้า ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังคงขยับสูงขึ้นมาที่ระดับ 90.1% ในปี 2564 จากระดับ 89.7% ในปี 2563  อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ครัวเรือนดังกล่าวยังคงเป็นระดับสูง และเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันการบริโภคของครัวเรือนและเศรษฐกิจในภาพรวม

ภายใต้สภาวะที่การเติบโตของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นผลมาจากแรงผลักดันของภาวะเงินเฟ้อสูงมากกว่าการฟื้นตัวอย่างแท้จริงของเศรษฐกิจทำให้โจทย์เฉพาะหน้าของครัวเรือนไทยที่เป็นหนี้ยังคงเป็นการดูแลบริหารจัดการภาระค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับกระแสรายรับ/รายได้ของครัวเรือนเพื่อให้ยังคงมีความสามารถในการชำระคืนหนี้ ทั้งนี้แม้ว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงที่ไทยเผชิญจะไม่แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ แต่เนื่องจากการหยั่งลึกของผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ภาคครัวเรือนไทยมีฐานะทางการเงินอ่อนแอลง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือนซึ่งเป็นจุดเปราะบางหนึ่งของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องมีความต่อเนื่องแล้ว ยังจะต้องใช้เวลา เพราะหนี้ครัวเรือนเชื่อมโยงกับปัญหาเศรษฐกิจการเงินในระดับครัวเรือนและประชาชนรายย่อยอีกหลายด้าน ทั้งปัญหาความสามารถในการหารายได้เพื่อเลี้ยงชีพซึ่งจะมีผลช่วยชะลอการก่อหนี้ใหม่และการแก้ไขภาระหนี้สินเดิมที่อยู่ในระดับสูงซึ่งกระทบคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ในปัจจุบัน

ประเด็นหนึ่งซึ่งอยู่ในแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยของธปท. ที่เป็นส่วนสำคัญในช่วยดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือน ก็คือ การขยายขอบเขตการกำกับผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยในลักษณะ activity-based เพื่อให้ครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นแหล่งกู้เงินของภาคครัวเรือน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนรายย่อยได้รับความคุ้มครอง ควบคู่กับการดูแลเสถียรภาพระดับมหภาค ขณะที่ผู้ให้บริการสินเชื่อก็จะดำเนินตามแนวทางการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบโดยให้มั่นใจว่าลูกหนี้จะมีรายได้เหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพ และไม่มีพฤติกรรมการก่อหนี้ที่ไม่พึงประสงค์เช่น การกู้วนเพื่อรีไฟแนนซ์หนี้เดิม นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างหนี้ครัวเรือนตั้งแต่ช่วงหลังปี 2559 เป็นต้นมา สะท้อนว่า สัดส่วนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้นจาก 6.0% ในปี 2559 มาที่ 8.0% ในปี 2564 สวนทางกับสัดส่วนสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพที่ทยอยปรับลดลงจาก 19.3% ปี 2559 มาที่ 18.1% ในปี 2564 ซึ่งภาพดังกล่าวน่าจะสะท้อนว่า อาจต้องมีเกณฑ์ที่เข้ามาดูแลเพื่อช่วยลดการก่อหนี้โดยไม่จำเป็นของครัวเรือน และช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อให้แก่ภาคครัวเรือนที่เป็นหนี้เพื่อการประกอบอาชีพ เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน