Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 มีนาคม 2564

สถาบันการเงิน

ธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ปี 2564: โอกาสฟื้นตัวยังถูกจำกัด จากความเสี่ยงธุรกิจที่สูงในภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอน (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3200)

คะแนนเฉลี่ย

สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นบุคคลธรรมดาที่อาจไม่มีรายได้ประจำ ไม่เคยเดินบัญชีกับธนาคาร และไม่มีหลักประกัน ประสบภาวะถดถอยติดต่อกันในปี 2562-2563 โดยมีปัจจัยหลักจากผู้ประกอบการรายใหญ่ยุติการให้สินเชื่อใหม่เนื่องจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูงไม่คุ้มความเสี่ยง ประกอบกับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งทำให้กลุ่มลูกค้าระดับฐานรากมีความเปราะบางต่อรายได้และมีความเสี่ยงสูงขึ้น โดยยอดคงค้างสินเชื่อปรับตัวลดลงประมาณครึ่งหนึ่งจากระดับสูงสุดในปี 2561 เป็น 17,441 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 สวนทางกับอัตราส่วนหนี้เสีย (NPL) ที่เร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 6.1% เทียบกับ 2.3% ในปี 2561

            ขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สามารถตอบโจทย์ความเสี่ยงและการสร้างรายได้ให้ผู้ให้บริการสินเชื่อได้มากกว่าในภาวะนี้ ทำให้การแข่งขันของผู้ประกอบการในธุรกิจสินเชื่อรายย่อยต่างมุ่งไปที่ตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีระดับรายได้ใกล้เคียงกับลูกค้าในธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ แต่สามารถพิสูจน์หรือติดตามลักษณะพฤติกรรมจากการทำธุรกรรมทั่วไปได้

อย่างไรก็ดี ด้วยอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ที่อยู่ในระดับสูงถึง 33% เป็นแรงจูงใจให้ผู้ให้บริการมีการปรับตัวในหลายมิติ เพื่อให้กระบวนการด้านเครดิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ดังนี้

·  นำเสนอสินเชื่อในช่องทางดิจิทัล: เพื่อเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่มีศักยภาพและลดต้นทุนของธุรกจิ

· ใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณาสินเชื่อในลักษณะ Information based Lending: โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในสาขาต่าง ๆ ซึ่งมีฐานคู่ค้าและลูกค้าจำนวนมาก

· ปรับลดขนาดวงเงินสินเชื่อให้ต่ำกว่าเพดานสินเชื่อ: เป็นวงเงิน 5,000-50,000 บาท เพื่อกระจายความเสี่ยง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าแนวโน้มการเติบโตของนาโนไฟแนนซ์ในปี 2564 อาจขยายตัวเล็กน้อยในช่วง 1-5% หลังจากที่หดตัวติดต่อในปี 2562-2563 เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่บางส่วนทยอยกลับเข้าตลาดโดยบุกเบิกช่องทางสินเชื่อนาโนดิจิทัล ขณะที่หนี้เสียในธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ คงมีทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อนมาที่ระดับประมาณ 5.0-5.5% อันเป็นผลจากความระมัดระวังในการพิจารณาเครดิตตลอดช่วงการชะลอสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ใน 2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เนื่องจากโมเดลธุรกิจนาโนดิจิทัลยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ทำให้ยังต้องติดตามความเสี่ยงของการให้สินเชื่อด้วยแนวทางใหม่ดังกล่าวด้วย แม้ว่าด้วยขนาดสินเชื่อที่เล็กและมีการกระจายตัวมาก ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าคงไม่มีผลต่อภาพรวมหนี้เสียอย่างมีนัยสำคัญในช่วงแรกของธุรกิจก็ตาม

ทั้งนี้ หากสถานการณ์โควิด 19 อยู่ในความควบคุมได้ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศทยอยกลับสู่ภาวะปกติ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การแข่งขันในตลาดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะกลับมา เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของนาโนไฟแนนซ์ที่สูงกว่าสินเชื่อรายย่อยอื่น ทำให้มีผู้ประกอบการในเครือธนาคารรายใหญ่รอจังหวะเข้าสู่ตลาด นอกจากนี้ กลไกการให้สินเชื่อแบบดั้งเดิมที่พิจารณาบนฐานข้อมูลด้านการเงินการธนาคารเป็นหลัก ทำให้เกิดช่องว่างที่ผู้มีศักยภาพในการชำระหนี้บางส่วนไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนในระบบ เพราะสถาบันการเงินไม่มีข้อมูลที่สะท้อนโอกาสและความเสี่ยงของคนกลุ่มนี้ แต่ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมอื่นนอกเหนือจากระบบสถาบันการเงิน จะเอื้อต่อการให้โอกาสลูกค้าให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบการเงินได้โดยไม่เพิ่มความเปราะบางต่อระบบเศรษฐกิจการเงิน เนื่องจากอยู่บนรากฐานการพิจารณาสินเชื่อที่ตระหนักถึงโอกาสและความเสี่ยงอย่างสมดุล บนความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนในระยะยาวภายใต้การติดตามอย่างใกล้ชิดของทางการไทย​​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน