Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 กุมภาพันธ์ 2566

Econ Digest

จับตา...เทคโนโลยี AI Chatbot ตัวช่วยธุรกิจรูปแบบใหม่

คะแนนเฉลี่ย

        เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence (AI) รูปแบบใหม่ที่โต้ตอบเป็นภาษาเขียน กำลังเป็นปรากฏการณ์ไปทั่วโลก เนื่องจากเป็น AI ที่ผสมผสานระหว่างโมเดลภาษากับระบบการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ ทำให้สามารถตอบโต้กับผู้ใช้งานในลักษณะที่เป็นภาษาเขียน เป็นเสมือนผู้ช่วยรวบรวมข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องการ ในรูปแบบภาษาที่ง่ายต่อความเข้าใจและการสื่อสาร แตกต่างจาก Search Engine ที่ผู้ใช้ต้องมาเรียบเรียงภาษาเองจากบรรดาข้อมูลที่ได้จากการค้นหาและการคัดเลือกแหล่งข้อมูลต่างๆ มาให้ ตัวอย่างของเทคโนโลยีนี้ ได้แก่ ChatGPT (Chat Generative Pre-trained Transformer) ที่เปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565, Bard AI ที่เปิดตัวตามมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และ Ernie Bot ที่น่าจะเปิดตัวในเดือนมีนาคม 2566 รวมถึงอื่นๆ ที่คงจะถูกพัฒนาตามมาอีก และในอนาคต ประโยชน์ของการใช้งานเทคโนโลยี AI นี้น่าจะขยายขอบเขตไปได้อย่างหลากหลายหรือเป็นมากกว่าการโต้ตอบกับผู้ใช้งาน เช่น เป็นวิดีโอ เป็น AI ที่สอนทำอาหาร ช่วยแนะนำการลงทุน จัดการเรื่องภาษี การซื้อของ สร้างงานศิลปะ สร้างคอนเทนท์ในรูปแบบต่างๆ ฯลฯ จากกระแสการตอบรับของผู้ใช้งานและความเคลื่อนไหวของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกข้างต้น สะท้อนถึงตลาดการให้บริการทางเทคโนโลยีที่แข่งขันกันสูงมาก และไม่ใช่เพียงแค่การแข่งขันในระดับธุรกิจหรือเกี่ยวพันกับรายได้หลักด้านการโฆษณาเท่านั้น แต่ยังบ่งชี้ถึงการแข่งขันในระดับประเทศระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในการแย่งชิงความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีระดับโลกอีกด้วย  
        นอกเหนือจากประเด็นด้านจริยธรรมและความปลอดภัยของข้อมูล ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อการมาของเทคโนโลยี AI ที่โต้ตอบเป็นภาษาเขียน ดังนี้

  • ในระดับธุรกิจ ผู้พัฒนาและให้บริการงานด้านซอฟต์แวร์ในไทยมีแนวโน้มนำเทคโนโลยี AI นี้มาต่อยอดและผสมผสานเป็นเครื่องมือช่วยธุรกิจ จริงๆ แล้ว ธุรกิจหรือคนทั่วไปก็สามารถใช้เทคโนโลยี AI ที่โต้ตอบเป็นภาษาเขียนนี้ในงานด้านต่างๆ ได้ด้วยตนเอง เพียงแต่ต้องเรียนรู้และประยุกต์การใช้งานให้เข้ากับสถานการณ์และบริบทที่อาจจะมีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น เพื่อให้ได้รับคำตอบที่เจาะลึกในรายละเอียด อาจจะต้องตั้งคำถามที่เจาะจงเพราะมิเช่นนั้นจะได้รับคำตอบที่กว้างเกินไป หรือหากต้องการให้ช่วยในระบบงานด้านใด ก็อาจจะต้องขยายความหรือเปลี่ยนคำถามไปหลายๆ ครั้งเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงจุด เป็นต้น  
  • ดังนั้น ในช่วงถัดไป เราน่าจะเห็นตลาดผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์สำเร็จรูปในไทย นำเทคโนโลยี AI ที่โต้ตอบเป็นภาษาเขียนนี้ มาประยุกต์การใช้งานกับเครื่องมือต่างๆ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการในการตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การผลิตคอนเทนท์ การวางแผนระบบงาน การออกแบบการทำการตลาด งานขาย งานบัญชี งานติดต่อลูกค้า การบริหารระบบหลังบ้าน เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการข้างต้น จะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการดำเนินการให้กับธุรกิจของลูกค้า ภายใต้การคิดค่าบริการการประยุกต์เครื่องมือดังกล่าวที่ต้องสะท้อนถึงความคุ้มค่าหรือมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงจนเกินไป ทั้งนี้ ตลาดการจัดทำซอฟต์แวร์สำเร็จรูป (ยกเว้นซอฟต์แวร์เกมสำเร็จรูป) ในไทย ณ ปัจจุบัน มีจำนวนผู้ให้บริการที่เป็นนิติบุคคลดำเนินการอยู่ 2,077 ราย ด้วยรายได้ธุรกิจรวมอยู่ที่ประมาณ 24,457 ล้านบาทในปี 25641
  • ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยี AI ที่โต้ตอบเป็นภาษาเขียนมาใช้ น่าจะช่วยประหยัดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการของธุรกิจโดยเฉพาะในงานที่ไม่ซับซ้อน อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จหรือความคุ้มค่าต่อการใช้งานเทคโนโลยี AI ที่โต้ตอบเป็นภาษาเขียนนี้ สำหรับธุรกิจที่ต้องการใช้งานเองหรือใช้งานผ่านเครื่องมือที่ถูกพัฒนาโดยผู้จัดทำซอฟต์แวร์สำเร็จรูป จะยังขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข ทั้งปัจจัยภายใน เช่น การเปรียบเทียบข้อดีด้านประสิทธิภาพและต้นทุนค่าใช้จ่าย กับการจ้างแรงงานหรือการลงทุนในเครื่องมืออื่นๆ รวมถึงปัจจัยภายนอก อาทิ พฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและซับซ้อน กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น ตลอดจนความก้าวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยี AI ในระดับโลกที่คงจะไม่หยุดนิ่ง ดังนั้น จึงยังต้องจับตาว่าเทคโนโลยี AI นี้ จะสามารถเปลี่ยนโฉมหน้าสาขางานในแขนงต่างๆ ในไทยไปอย่างไร มากน้อยหรือรวดเร็วเพียงใดหลังจากนี้
  • แม้อาจจะยังเร็วไปที่จะสรุปถึงผลกระทบต่อธุรกิจได้อย่างชัดเจน แต่ในระดับเศรษฐกิจของประเทศ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยี AI ที่โต้ตอบเป็นภาษาเขียนนี้ นับเป็นเครื่องมือหนึ่งที่อาจช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำหรือแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะเมื่อไทยกำลังจะมีจำนวนประชากรลดลงและเป็นสังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ ขณะเดียวกัน ในด้านผลกระทบนั้น การใช้งานเทคโนโลยีนี้ อาจจะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งงานในด้านต่างๆ กระทบหลายๆ ธุรกิจให้ถูกดิสรัป และอาจมีผลตามมาต่อเศรษฐกิจและสังคมได้เช่นกัน
  • เพื่อที่จะรับมือกับโอกาสและความท้าทายเฉพาะหน้า ทุกภาคส่วนจึงควรเร่งปรับตัวให้เท่าทัน โดยสนับสนุนให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องไปกับบริบททางเศรษฐกิจและกฎหมายของประเทศ ควบคู่ไปกับการหาแนวทางดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อแรงงานและธุรกิจที่อาจถูกดิสรัป ในขณะเดียวกัน การยกเครื่องระบบการศึกษา และการพัฒนาทักษะแรงงานของคนในประเทศ ให้สอดรับไปกับตำแหน่งงานที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตจากหลายๆ ปัจจัย คงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการตั้งแต่บัดนี้แล้ว
 1ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ 6 กุมภาพันธ์ 2566

 


Click
 ชมคลิป จับตา...เทคโนโลยี AI Chatbot ตัวช่วยธุรกิจรูปแบบใหม่

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest