Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 พฤศจิกายน 2563

Econ Digest

เสริมมาตรการดูแลเงินบาท รับมือกระแสเงินทุนเข้าไทย

คะแนนเฉลี่ย
​หลังจากที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สิ้นสุดลง และความหวังมากขึ้นต่อการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 หากนับระหว่างวันที่ 1-19 พ.ย. 2563 พบว่า มีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นและพันธบัตร รวมกันเป็นจำนวน 6.97 หมื่นล้านบาท  ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 17 เดือน ขณะที่เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 10 เดือนที่ 30.14 ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 30.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในปัจจุบัน การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงเวลานี้เป็นเรื่องน่ากังวล เพราะอาจกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัวของ ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงออกมาตรการดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เมื่อ 20 พ.ย. 63 สำหรับนักลงทุนไทย ได้แก่ คลายเกณฑ์การเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ตลอดจน ขยายวงเงินและประเภทหลักทรัพย์ต่างประเทศที่สามารถลงทุนได้ และสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ได้กำหนดให้มีการลงทะเบียนแสดงตัวตนในการซื้อ-ขายตราสารหนี้ (Bond Pre-trade Registration) ซึ่งสอดคล้องกับหลายประเทศในเอเชีย ที่เปิดรับเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยนักลงทุนสามารถซื้อ-ขายตราสารหนี้ได้อย่างเสรี แต่ต้องมีการระบุตัวตนที่ชัดเจน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการครั้งนี้ของ ธปท. เพื่อเตรียมรับมือกับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ที่อาจมีโอกาสไหลเข้ามาลงทุน ในตลาดการเงินไทยมากขึ้นในระยะข้างหน้า ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแนวโน้มอ่อนค่า ตามสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อันเป็นปัจจัยภายนอกที่ไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยมาตรการสำหรับนักลงทุนไทย มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นแรงซื้อเงินตราต่างประเทศ เพิ่มความ
ยืดหยุ่นให้กับเงินทุนขาออก ซึ่งอาจชะลอหรือลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาท ขณะที่การลงทะเบียนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ เป็นการยกระดับการติดตามพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ให้เข้มงวดมากขึ้น
เพื่อลดความผันผวนที่เกิดจากการพักเงินระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ ที่อาจมีผลกับการเคลื่อนไหวของเงินบาทในบางช่วง แต่ไม่ใช่มาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้า

นอกจากนี้ ปัจจัยพื้นฐานจากแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด อาจหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ก็อาจจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเพิ่มเติมในช่วงปีหน้า ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ และสัญญาณการยืนดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำต่อเนื่องของเฟด ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าผ่านระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในปี 2564 (โดยธนาคารกสิกรไทย ประเมินค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 29.00-29.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นปี 2564) ดังนั้น ธปท. อาจจำเป็นต้องเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดความผันผวนในระยะสั้น และประเมินความจำเป็นของการปรับใช้มาตรการดูแลเงินบาทเพิ่มเติมอีกในระยะต่อไป


 


 


 








                                                                                                                                         ​         ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest