Display mode (Doesn't show in master page preview)

6 พฤษภาคม 2565

Econ Digest

เงินบาท...ยังฟื้นตัวไม่แน่นอน แม้พลิกแข็งค่าช่วงสั้นหลังเฟดไม่เร่งสัญญาณคุมเข้ม

คะแนนเฉลี่ย

​การฟื้นตัวของเงินบาทยังไม่แน่นอน แม้เงินบาทจะพลิกแข็งค่าระยะสั้น หลังเฟดไม่เร่งสัญญาณคุมเข้ม


จากผลการประชุมเฟดรอบนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีข้อสังเกตอย่างน้อย 2 จุด ซึ่งเหมือนเป็นการส่งสัญญาณอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ถูกตีความว่า จะมีการเร่งคุมเข้มนโยบายการเงินแบบแข็งกร้าวเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และสัญญาณในส่วนนี้เองที่ทำให้นักลงทุนและตลาดผิดหวัง และทำการปรับโพสิชันขายทำกำไรเงินดอลลาร์ฯ ออกมา ได้แก่ 1) เฟดยอมรับว่า การขึ้นดอกเบี้ยมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และยังไม่พิจารณาเร่งขนาดการขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งละ 0.75% แม้เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของเฟดในช่วงหลายเดือนข้างหน้า และ 2) เฟดยังไม่เริ่มลดงบดุลในเดือนพ.ค. และจะแบ่งกระบวนการลดงบดุลออกเป็น 2 ระยะ คือ เดือนมิ.ย.-ส.ค. 2565 ลดงบดุลเดือนละ 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ และจะเริ่มลดเดือนละ 9.50 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ตั้งแต่เดือนก.ย. 2565 เป็นต้นไป

แม้สัญญาณไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยและลดงบดุลของเฟด อาจกระตุ้นแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ในระยะสั้น และส่งผลทำให้ค่าเงินสกุลหลักและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ พลิกแข็งค่า พร้อมๆ กับเงินบาทที่ดีดกลับมาทดสอบแนวใกล้ๆ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ดี มองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าในช่วงหลายเดือนข้างหน้าจาก 3 ปัจจัย ประกอบด้วย 1) ความแตกต่างของทิศทางดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ-ไทย ซึ่งเฟดยังคงเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ แต่ดอกเบี้ยไทยจะยังคงทรงตัวที่ 0.50% เพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 2) ดุลบัญชีเดินสะพัดและภาพรวมเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของเงินบาท ยังอยู่ในระดับที่อ่อนแอ เพราะแม้จะมีการเริ่มเปิดประเทศ แต่การฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงต้องใช้เวลา และ 3) เงินหยวนและเงินเยนยังมีแนวโน้มอ่อนค่าตามทิศทางชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะกดดันกรอบการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชียในภาพรวม

ดังนั้น ในมุมของผู้นำเข้าคงต้องระมัดระวังทิศทางของค่าเงินบาทที่ยังคงมีโอกาสแกว่งตัวอ่อนค่ากลับไปที่ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ หรืออ่อนค่าลงเพิ่มเติมได้อีกในช่วง 1-2 ไตรมาสนับจากนี้ อย่างไรก็ดีศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แรงกดดันด้านอ่อนค่าของเงินบาทอาจจะเริ่มบรรเทาลง และเงินบาทมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นในช่วงท้ายปี เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ น่าจะอยู่สูงกว่าระดับอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่เฟดประเมินไว้ที่ 2.40% และตลาดรับรู้การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปมากพอสมควรแล้ว นอกจากนี้จุดสนใจของนักลงทุนอาจเริ่มหันกลับมาประเมินโอกาสของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ในเอเชีย รวมถึงไทยมากขึ้น โดยมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นกนง. พิจารณาจังหวะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทย โดยเฉพาะหากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง High Season และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเริ่มทยอยฟื้นตัวกลับมา ซึ่งจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจในภาพรวมสามารถประคองเส้นทางการฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนวิกฤตโควิด-19 ได้

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest