Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 กุมภาพันธ์ 2564

Econ Digest

5 เรื่องต้องรู้ เมื่อ...บอนด์ยิลด์สหรัฐฯ ปรับขึ้น

คะแนนเฉลี่ย

5 คำถาม เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรขยับขึ้น  

นับจากเปิดตลาดในช่วงต้นปี 2564 เป็นต้นมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือบอนด์ยิลด์ของหลายๆ ประเทศทั่วโลก ต่างทยอยปรับสูงขึ้น ตามทิศทางของบอนด์ยิลด์ของสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุด บอนด์ยิลด์ระยะ 10 ปีเพิ่มขึ้นมาแล้ว ประมาณ 0.40% มาอยู่ที่ 1.36% ซึ่งสูงสุดในรอบ 1 ปี  ทั้งนี้การปรับขึ้นของบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ น่าจะทำให้เกิดหลายคำถามตามมา อาทิ 
Q: ปัจจัยใดที่ทำให้บอนด์ยิลด์สหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้?
A: บอนด์ยิลด์สหรัฐฯ ได้รับแรงหนุนจากหลายเรื่องที่เข้ามาในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยเฉพาะในเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีวงเงินขยับเพิ่มขึ้นมาที่ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ความคืบหน้าของการเร่งฉีดวัคซีนต้านโควิด 19 ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ทยอยออกมาดีกว่าที่คาด ซึ่งทำให้เริ่มมีความกังวลกับความเสี่ยงเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้ 
Q: บอนด์ยิลด์สหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น มีผลต่อตลาดพันธบัตรไทยหรือไม่?
A: การเพิ่มขึ้นของบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่หนุนทิศทางของบอนด์ยิลด์ในไทยด้วยเช่นกัน โดยบอนด์ยิลด์ไทยอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นแล้วในปีนี้ ประมาณ 0.34% มาที่ 1.62% ซึ่งสูงสุดในรอบกว่า 10 เดือน นอกจากนี้บอนด์ยิลด์ไทยยังมีปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากการคาดการณ์ว่า จะมีปริมาณพันธบัตรรัฐบาลไทยออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เพื่อระดมทุนสำหรับมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วนเช่นกัน
Q: ผู้ลงทุนพันธบัตรทำอย่างไรดี เมื่อบอนด์ยิลด์เพิ่มขึ้น?
A: จากการที่บอนด์ยิลด์ ซึ่งเสมือนเป็น “อัตราดอกเบี้ย” ของตราสารหนี้ กับ “ราคา” ของตราสารหนี้เคลื่อนไหวในทิศทางที่ตรงกันข้ามหรือผกผันกัน ดังนั้น เมื่อบอนด์ยิลด์สูงขึ้น อาจทำให้ผู้ถือพันธบัตรเผชิญผลขาดทุนจากการปรับลดลงของราคาตราสารหนี้นั้นๆ หากขายออกมาก่อนครบกำหนดไถ่ถอน ดังนั้นแล้ว ในมุมของนักลงทุนอาจปรับแผนการลงทุนมาเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นลง เพื่อลดโอกาสขาดทุนจากการลดลงของราคาตราสาร และเมื่อตราสารครบกำหนดก็จะสามารถนำเงินลงทุนนั้นกลับไปซื้อตราสารหนี้ใหม่ที่น่าจะให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ นอกจากนี้ หากในระยะข้างหน้าเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น นักลงทุนอาจเลือกลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ ซึ่งผลตอบแทนของพันธบัตรประเภทนี้จะสูงขึ้น เมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น 
Q: บอนด์ยิลด์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาก กดดันให้เฟดต้องเตรียมลดการผ่อนคลายทางการเงินหรือไม่?
A: ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เฟดจะยังคงนโยบายการเงินไว้ตามเดิม ทั้งเครื่องมือดอกเบี้ย และวงเงินการทำ QE โดยการผ่อนคลายทางการเงินยังจำเป็น เนื่องจากสถานการณ์การจ้างงานและเงินเฟ้อยังคงอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายของเฟด 
Q: บอนด์ยิลด์สหรัฐฯ ที่ขยับขึ้น น่ากังวลหรือไม่?
A: แม้ว่าโดยมาก การขยับขึ้นของบอนด์ยิลด์เป็นหนึ่งในสัญญาณสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่คงต้องยอมรับว่า การขยับขึ้นอย่างรวดเร็วและมากเกินไปของบอนด์ยิลด์ อาจกลายเป็นปัจจัยที่ตลาดต้องระมัดระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจกลายเป็นชนวนสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดแรงเทขายในตลาดสินทรัพย์เสี่ยง เ​พื่อทำกำไรจากการที่ราคาได้ปรับตัวขึ้นมามากแล้วนับตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ขณะที่คงต้องติดตามสัญญาณจากเฟด ซึ่งสัญญาณที่ชัดเจนจากเฟดน่าจะมีบทบาทสำคัญในการดูแลกระแสการคาดการณ์ของตลาด เพื่อบรรเทาความผันผวนและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ 


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest