Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 พฤศจิกายน 2564

Econ Digest

กรณี...ประกันโควิด กับการดูแลผู้ซื้อฯ และบริษัทประกันภัย พร้อมสร้างบรรทัดฐานการประกันความเสี่ยงอุบัติใหม่

คะแนนเฉลี่ย

วิกฤตโควิด-19 จู่โจมชาวไทยอย่างหนักในปีนี้ สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในแวดวงประกันภัย ด้วยสถิติการซื้อประกันโควิด-19 สูงถึง 40 ล้านฉบับ เกินครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรไทย อันเป็นการเปิดประตูสู่การตระหนักรู้ถึงการป้องกันความเสี่ยงในระดับบุคคลอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ดี ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมที่ทบทวีขึ้นอย่างรวดเร็วเกินความคาดหมายที่ระดับ  1.78 ล้านราย (ณ 20 ตุลาคม 2564) หรือคิดเป็นประมาณ 2.5% ของจำนวนประชากรในประเทศ ส่งผลให้มีการเคลมสินไหมเข้ามาสูงถึงกว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกัน

​ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงได้ออกประกาศและแนวทางในการกำกับดูแลเพิ่มเติม รวมถึงใช้กลไกที่มีอยู่ในการดูแลทั้งฝั่งผู้ซื้อกรมธรรม์ และบริษัทประกันภัย ดังนี้

1.    กองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 มาตรา 78 มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิ์ได้รับชำระหนี้ ที่เกิดจากการเอาประกันภัยในกรณีบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยกองทุนจะจ่ายให้ไม่เกินหนึ่งล้านบาทต่อกรมธรรม์ นอกจากนี้ กองทุนยังรับผิดชอบหนี้สินจากบริษัทประกันภัยที่ถูกปิดกิจการด้วย >>> ดังนั้น กองทุนดังกล่าว จึงช่วยดูแลลูกค้าของบริษัทประกันที่ยุติกิจการ ทั้งที่ยื่นเคลมประกันแล้วและอยู่ระหว่างการยื่นเคลม ส่วนลูกค้าที่ถือกรมธรรม์โควิดแต่ยังไม่เกิดเหตุให้เคลมได้ ก็มีทางเลือกในการขอรับเบี้ยคืนหรือขอเปลี่ยนเป็นกรมธรรม์บริษัทอื่นในโครงการตามเงื่อนไขใหม่ที่ระบุไว้

2.       มาตรการสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทนโควิด-19 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. 2564 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564) โดยเปิดโอกาสให้บริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทนโควิด-19 ตามเกณฑ์ที่กำหนด สามารถยื่นขอผ่อนปรนหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนระหว่างวันที่ 30 กันยายน 2564 ถึง 30 มิถุนายน 2565 ได้เป็นกรณีพิเศษ

ทั้งนี้ กรอบเงื่อนไขสำหรับบริษัทประกันภัย ที่ คปภ. มีแนวทางช่วยเหลือด้วยการผ่อนผันเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนเป็นการชั่วคราว สะท้อนการคัดกรองบริษัทที่มีเจตจำนงค์ในการจ่ายเคลมสินไหมแก่ผู้เอาประกันโดยไม่บิดพริ้ว และเป็นบริษัทที่มีภาระการจ่ายสินไหมสูง ดังเกณฑ์คุณสมบัติของบริษัทที่สามารถยื่นขอเข้ามาตรการผ่อนผันได้ อาทิ ก่อนการขอผ่อนผัน บริษัทจะต้องมีค่าสินไหมทดแทนโควิด-19 มากกว่า 500 ล้านบาท มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนโควิด-19 ไม่น้อยกว่า 75% ของเรื่องร้องเรียน มีการประมาณการว่าการดำรงเงินกองทุนของบริษัทในช่วงก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2565 อาจต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด มีเงินกองทุน/สินทรัพย์สภาพคล่องเพียงพอในการจ่ายค่าสินไหมค้างจ่ายที่มีการเรียกร้องก่อนขอผ่อนผัน และมีแผนในการแก้ไขฐานะทางการเงิน
สาระความช่วยเหลือที่บริษัทประกันภัยได้รับจากการเข้ามาตรการผ่อนผันตามประกาศฉบับนี้ ช่วยประคองสถานะเพื่อให้เวลาแก่บริษัทในการจัดหาเงินทุนสำหรับจ่ายเคลมประกัน ควบคู่ไปกับการดำเนินกิจการต่อไปได้ตามปกติ ซึ่งเป็นผลดีต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เอาประกัน และยุติการคาดคะเนสถานการณ์เชิงลบที่อาจบั่นทอนความเชื่อมั่นในภาพรวม >>> โดยผ่อนผันให้ไม่นำความเสี่ยงจากประกันโควิด-19 มารวมคำนวณ และผ่อนผันอัตราการดำรงเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ได้จนถึง 30 มิถุนายน 2565 รวมทั้งเปิดทางให้นำเงินกู้ยืมด้อยสิทธิ์ระยะยาวเข้าเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (จากเดิมไม่มี มีแต่เงินกองทุนชั้นที่ 1) เป็นต้น

3.       คปภ.ได้นำประเด็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์ประกันโควิด-19 มากำหนดแนวทางใหม่ให้กับการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ หลังจากที่มีประสบการณ์กับประกันโควิด ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงอุบัติใหม่ (Emerging Risk) ที่เรียกได้ว่ายังไม่มีบรรทัดฐานการคำนวณอัตราความสูญเสีย (Loss Ratio) ได้อย่างใกล้เคียงมาก่อน ทั้งนี้ แนวทางกำกับดูแลใหม่ มีดังนี้

        • เงื่อนไขการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย: โดยให้ระบุกรณีที่สามารถทำได้ให้ชัดเจน
        • ให้มีทีมงานวิเคราะห์สถานการณ์การรับประกันภัยเชิงลึก: รวมถึงเพิ่มการติดตามสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันภัยเป็นกรณีพิเศษอย่างต่อเนื่องด้วยความถี่มากกว่าปกติ
        • กำหนดหลักเกณฑ์ขั้นต่ำในการบริหารจัดการความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ประกันภัย: โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่คุ้มครองความเสี่ยงภัยอุบัติใหม่ ด้วยการกำหนดความเพียงพอของเงินกองทุน การจัดทำประกันภัยต่อ และการให้อำนาจนายทะเบียนสั่งหยุดการเสนอขายผลิตภัณฑ์เป็นการชั่วคราว 
        • เพิ่มประภาพกระบวนการตรวจสอบเชิงรุก: พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการรับ-ส่งข้อมูลธุรกิจประกันภัย รวมทั้งระบบการประมวลผลอัจฉริยะเพื่อติดตามวิเคราะห์ฐานะการรับประกันภัยได้ทันต่อสถานการณ์
        • สนอการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สามารถออกมาตรการแทรกแซงการดำเนินธุรกิจในบริษัทกลุ่มเสี่ยง: เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วขึ้นและจำกัดขอบเขตความเสียหาย
        • คุ้มครองสิทธิ์ผู้เอาประกัน: เปิดช่องทางให้ข้อมูลกับประชาชน ทั้งระบบ Chatbot และสายด่วน 
          คปภ. 1186 รวมทั้งจัดทำคำถามคำตอบ เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์และประชาสัมพันธ์มาตรการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย

 
แม้ว่าผลกระทบจากประกันโควิด โดยเฉพาะต่อบริษัทประกันในรอบนี้ ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของโควิดและความก้าวหน้าของการฉีดวัคซีนเป็นสำคัญ ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่ออัตราการเคลมกรมธรรม์ ทว่าหลายฝ่ายก็ร่วมกันดูแลปัญหา และเรียนรู้จากความเสี่ยงอุบัติใหม่ในรอบนี้ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์และความเข้มแข็ง เตรียมรองรับโจทย์ที่ยากขึ้น รวมถึงความเสี่ยงใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest