Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 สิงหาคม 2563

Econ Digest

มาตรฐานใหม่ CODEX จัดการสารก่อภูมิแพ้ ตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร

คะแนนเฉลี่ย

              จากการประชุม Codex Alimentarius Commission ล่าสุดครั้งที่ 43 มีประเด็นเกี่ยวกับการยกระดับการจัดการความปลอดภัยด้านอาหารที่ผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตอาหาร ซึ่งได้แก่ ผู้ผลิตขั้นต้น โรงงานแปรรูป ร้านค้าปลีกและร้านอาหาร จะต้องเตรียมพร้อมรับมือ นั่นคือ การที่ CODEX เตรียมประกาศมาตรฐานใหม่ เรื่อง "หลักปฏิบัติสำหรับการจัดการสารก่อภูมิแพ้สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร" เบื้องต้นอาจเริ่มประกาศใช้ประมาณปลายปี 2563 หลังจากร่างมาตรฐานใหม่นี้ถูกเสนอให้มีการจัดทำมาตั้งแต่ปี 2560 โดยสารก่อภูมิแพ้ที่ CODEX ระบุไว้มี 8 กลุ่ม ได้แก่ ธัญพืชที่มีกลูเตน นมและผลิตภัณฑ์นม ไข่ เมล็ดถั่ว (Tree Nuts) ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีเปลือกแข็ง (เช่น กุ้ง ปู) รวมถึงซัลเฟอร์ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 10 มก./กก.

            มาตรฐานใหม่นี้ จะแตกต่างจากข้อกำหนดที่เคยมีอยู่ในระบบ GMP/HACCP คือ จากเดิมอันตรายที่กำหนดไว้จะได้แก่ อันตรายทางกายภาพ เคมีและจุลินทรีย์ แต่มาตรฐานใหม่ของ CODEX จะเพิ่มสารก่อภูมิแพ้และกำหนดวิธีการควบคุมสารก่อภูมิแพ้ อาทิ การพิจารณาสารก่อภูมิแพ้ในทุกกิจกรรม การกำหนดวิธีการทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องจักร การอบรมพนักงาน ตลอดจนพิจารณากฎหมายของแต่ละประเทศและกลุ่มประชากรที่แพ้สารก่อภูมิแพ้ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การจัดการสารก่อภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นจากการผลิตอาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้นและครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิตอาหาร

                ในทางปฏิบัติ มาตรฐาน CODEX เป็นเกณฑ์สากลที่ทุกประเทศจะนำมาใช้ และแม้จะไม่ได้เป็นข้อบังคับทางกฎหมาย แต่หากเกิดกรณีพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ มาตรฐาน CODEX ก็จะถูกหยิบยกมาเป็นเกณฑ์ในการระงับข้อพิพาท นั่นหมายความว่า ผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตอาหารจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติให้ได้ตามเกณฑ์

                  ทั้งนี้ ความปลอดภัยด้านอาหารเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ในขณะที่ประชากรที่เป็นโรคภูมิแพ้อาหาร ที่ประเมินโดยองค์กรโรคภูมิแพ้โลก พบว่าน่าจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 240 ล้านคน และการปนเปื้อนสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร ยังเป็นหนึ่งในปัญหาการถูกเรียกคืนผลิตภัณฑ์อาหาร (Food Recall) มากที่สุดอีกด้วย โดยจากสถิติการเรียกคืนผลิตภัณฑ์อาหารของประเทศต่างๆ ปี 2562[1] (อาทิ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศอื่นๆ) พบว่า สาเหตุที่มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์อาหารมากที่สุด คือ อันตรายจากฉลากไม่ถูกต้อง (คิดเป็นสัดส่วนราว 49% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการไม่แสดงสารก่อภูมิแพ้บนฉลาก ซึ่งสินค้าที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ อาหารพร้อมทาน อาหารแช่แข็ง และกลุ่มนมและผลิตภัณฑ์นม สำหรับไทยมีการถูกเรียกคืนสินค้า 6 รายการ 1 ในนั้นคือการพบสารก่อภูมิแพ้ในผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป โดยผลกระทบทางธุรกิจที่จะเกิดตามมาคือ อาจทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นถูกดำเนินการจากกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศผู้นำเข้า เช่น นำสินค้าออกจากตลาด ตรวจสอบข้อเท็จจริง ทำลายหรือส่งกลับประเทศต้นทาง ฯลฯ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจได้

                ดังนั้น ผู้ประกอบการส่งออกอาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูปและอาหารพร้อมทาน จึงเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่จะต้องเตรียมรับมือจากประเด็นนี้ เนื่องจากตลาดส่งออกของไทยคงจะมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นต่อการจัดการด้านการปนเปื้อนสารก่อภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป รวมถึงจีนที่แม้ปัจจุบันยังไม่ค่อยเข้มงวดเท่าไรนัก ก็มีแนวโน้มจะเข้มงวดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้ประกอบการอาหารส่งออกของไทยมีการปฏิบัติตามเกณฑ์ GMP และ HACCP อยู่แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า ในเบื้องต้นแม้มาตรฐาน CODEX ใหม่นี้ คงทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนการบริหารจัดการด้านการผลิตอาหารที่เพิ่มขึ้น และอาจกระทบต่อส่วนแบ่งกำไรสุทธิหรือมาร์จิ้นของธุรกิจบ้างในระยะสั้น จากการที่ผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องมีการแยกสายพานการผลิต การออกแบบหรือจัดขั้นตอนการผลิตใหม่ การอบรมพนักงาน การดูแลเครื่องมือเครื่องจักร บรรจุภัณฑ์ การขนส่ง เป็นต้น เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนสารก่อภูมิแพ้ตลอดห่วงโซ่การผลิต แต่ในภาพรวมแล้ว ปัจจัยนี้โดยลำพัง น่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกอาหารของไทยไปยังตลาดโลก (ในปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกอาหารของไทยไปตลาดโลกน่าจะมีมูลค่าราว 25,820-27,180 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวในกรอบ -5.0% ถึง 0.0%)

สำหรับผู้บริโภคในประเทศนั้น ก็จะได้รับการดูแลเช่นกัน สะท้อนจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารมาจำหน่ายในประเทศ ที่ก็คงจะต้องปฎิบัติตามมาตรฐานใหม่นี้ เพราะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ที่จะทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์สากล อาทิ GMP HACCP รวมถึงมาตรฐาน CODEX อนึ่ง ปัจจุบันไทยนำเข้าอาหารเป็นมูลค่าประมาณ 11,000

ล้านดอลลาร์ฯ/ปี

[1] สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 





Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest