Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 มกราคม 2563

Econ Digest

สหรัฐฯถอดจีน จากรายชื่อประเทศบิดเบือนค่าเงิน...ก่อนจะลงนามดีลการค้าเฟสแรก

คะแนนเฉลี่ย

​​        สหรัฐฯ ถอดจีนออกจากประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน หรือ Currency Manipulator ไม่กี่วันก่อนกำหนดวันลงนามดีลการค้าเฟสแรกกับจีน อย่างไรก็ดี จีนยังคงติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องถูกจับตาอย่างใกล้ชิด หรือ Monitoring List เช่นเดียวกับอีก 9 ประเทศในรายงานเศรษฐกิจมหภาคและอัตราแลกเปลี่ยนล่าสุดที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เพิ่งเปิดเผยออกมา  

        ​ในทางปฎิบัติ สหรัฐฯ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องค่าเงิน อยู่ 2 ฉบับ ฉบับแรก คือ The Omnibus Trade and Competitiveness Act of 1988 (The 1988 Act) ซึ่งกำหนดให้รมว. คลังสหรัฐฯ มีหน้าที่ตรวจสอบและติดตามแนวทางการดูแลค่าเงินของประเทศคู่ค้า ซึ่งจะต้องไม่ทำให้เกิดการค้าและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ ซึ่งรมว. คลังสหรัฐฯ ใช้อำนาจภายใต้ The 1988 Act นี้ ประกาศว่าจีนเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงินเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา เพราะในช่วงเวลานั้นทางการจีนได้เข้าแทรกแซงเพื่อทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว

           และจากการที่สหรัฐฯ และจีนเดินหน้าเจรจาอย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่ดีลการค้าเฟสแรก ซึ่งครอบคลุมประเด็นทางการค้าและประเด็นทางด้านสกุลเงินไว้ ก็ทำให้สหรัฐฯ ประกาศยกเลิกการระบุว่า จีนเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงินเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2563 ก่อนกำหนดการลงนามดีลการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯ-จีนในวันที่ 15 ม.ค. 2563

           ขณะที่ฉบับที่สอง คือ The Trade Facilitation and Trade Enforcement Act of 2015 (The 2015 Act) ซึ่งจะมีการระบุถึงเงื่อนไข (ที่ชัดเจนกว่า The 1988 Act) ที่จะใช้เป็นแนวทางในการติดตามนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้า โดยเงื่อนไข/เกณฑ์ที่ The 2015 Act จะตรวจสอบ คือ [1] ยอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ [2] ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศสูงกว่า 2% ของจีดีพี และ [3] มีการแทรกแซงการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน ด้วยการซื้อสุทธิเงินตราต่างประเทศในช่วง 6 เดือนจากช่วงเวลา 12 เดือนล่าสุด และยอดซื้อสุทธิเงินตราต่างประเทศดังกล่าวมียอดรวมเกินกว่า 2% ต่อจีดีพี 

           ทั้งนี้ ยอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับสูง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้จีนติด 1 จาก 3 เงื่อนไขตามเกณฑ์ของ The 2015 Act มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 และสหรัฐฯ ก็ยังคงจัดให้จีนอยู่ในกลุ่มประเทศที่จะต้องถูกจับตาอย่างใกล้ชิด หรือ Monitoring List ต่อไป ซึ่งเท่ากับว่า หลังจากมีการลงนามดีลการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐฯ-จีนแล้ว สหรัฐฯ ก็จะยังคงติดตามและตรวจสอบความคืบหน้าในการทำตามเงื่อนไขในข้อตกลง โดยเฉพาะการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ตามกรอบเวลาที่กำหนดเพื่อลดยอดขาดดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ  ในขณะที่จีนเองก็จะต้องเร่งปรับโครงสร้างและปฏิรูปเศรษฐกิจและภาคการเงิน ตลอดจนลดการเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเช่นกัน

            ​ยังคงต้องติดตามต่อไปว่า หลังจากนี้ สหรัฐฯ จะถอดจีนจากกลุ่มประเทศที่ต้องถูกจับตาอย่างใกล้ชิดหรือไม่ หลังจากจีนปฏิรูปภาคเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งจะทำให้บรรยากาศสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ดีขึ้น อันจะส่งผลให้ภาพรวมการค้าโลกดีขึ้นด้วย


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest