Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 ตุลาคม 2565

Econ Digest

ร่าง พ.ร.ฎ. ธุรกิจเช่าซื้อรถ...ขยายความคุ้มครองผู้บริโภค

คะแนนเฉลี่ย

​ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกันยก (ร่าง) พระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 เพื่อกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่ง1 รถยนต์และรถจักรยานยนต์ในส่วนที่ยังไม่มีการกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ (ร่าง พ.ร.ฎ.ฯ) โดยเปิดรับฟังความเห็นต่อร่าง พ.ร.ฎ.ฯ ระหว่างวันที่ 15-31 สิงหาคม 2565 และกำหนดให้มีผลบังคับใช้หลังจากลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 180 วัน

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปสาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ที่มีต่อผู้เช่าซื้อรถจากบริษัทลีสซิ่งที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ดังนี้

- ช่วยปิดช่องโหว่ของแนวทางการกำกับดูแล และเติมเต็มความคุ้มครองผู้บริโภค ในกลุ่มที่เช่าซื้อรถมาใช้รับจ้างหรือใช้ในธุรกิจ และผู้เช่าซื้อรถในนามนิติบุคคล ซึ่งเดิมไม่มีหน่วยงานทางการกำกับดูแล อันอาจเป็นช่องทางที่ทำให้ไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานและเป็นธรรม


- กำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทลีสซิ่ง: เน้นเปิดเผย เป็นธรรม และได้มาตรฐาน



- ให้อำนาจ ธปท. ในการประกาศเกณฑ์เพิ่มเติม เช่น ประกาศอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่เรียกเก็บได้ สั่งให้ระงับหรือแก้ไขการดำเนินงาน รวมทั้งกำหนดบทลงโทษหากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม  

กล่าวโดยสรุป ร่าง พ.ร.ฎ.ฯ ช่วยสร้างมาตรฐานการดำเนินธุรกิจเช่าซื้อและเช่าแบบลีสซิ่ง โดยทำให้สัญญาเช่าซื้อมีเกณฑ์และแนวทางที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และผู้เช่าซื้อได้รับการปฏิบัติและคุ้มครองสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติว่าเป็นการเช่าซื้อด้วยวัตถุประสงค์ใดๆ ซึ่งภายใต้ร่างกฎหมายนี้คงส่งผลให้บริษัทลีสซิ่งมีต้นทุนดำเนินการเพิ่มขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่เป็นผลดีต่อการยกระดับภาพลักษณ์ของธุรกรรมเช่าซื้อและเช่าแบบลีสซิ่ง ให้เป็นบริการทางการเงินที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการและสามารถเลือกใช้บริการได้อย่างวางใจ

    ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ถือเป็น 1 ใน 8 แนวทางการแก้ไขสถานการณ์หนี้ครัวเรือน ตามมติคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน ทำให้การผลักดันกฎหมายนี้คงได้รับการสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้ในไม่ช้า






--------------------------------------------------------------

  1 สัญญาเช่าซื้อ คู่สัญญามุ่งที่จะใช้หรือให้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินและต้องการโอนกรรมสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของให้แก่กัน

   สัญญาลีสซิ่ง คู่สัญญามุ่งที่จะใช้หรือให้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินชั่วระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ผู้เช่าสามารถเลือกว่าจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือไม่ก็ได้

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น